ชื่อเรื่อง รายงานผลการใช้กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา
สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตาวัง
ผู้วิจัย นางสาวภิญญดา กันนิดา
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางภาษาของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตาวัง ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS
และเพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตาวัง
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้
กลุ่มทดลองกลุ่มเดียว มีการวัดผลก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest Posttest Design)
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเด็กชาย - หญิง อายุระหว่าง 5 - 6 ปี กำลังเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านตาวัง ตำบลตาวัง อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3 จำนวน 19 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือก
แบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 40 กิจกรรม
2) แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา
สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 40 แผน และ 3) แบบประเมินทักษะทางภาษา จำนวน 4 ชุด ชุดละ 10 ข้อ รวมทั้งหมด 40 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูล ทำการวิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย (x̄) ค่าร้อยละ (P)
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนและหลังการทดลอง
โดยใช้ค่าที t - test แบบ Dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตาวัง ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรม
ตามรูปแบบ SPARPS มีทักษะทางภาษา โดยภาพรวมและแยกรายด้าน คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS
เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.7128 หมายความว่า การจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ SPARPS ทำให้เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความก้าวหน้า
ในการเรียนทางภาษา เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.28