ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
ชื่อผู้ศึกษา นายสุพะศิน อยู่ยอด
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านหนองจิก
ปี พ.ศ.2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาบริบทสภาพปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านหนองจิก และสังเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐาน แนวคิด ทฤษฎี และองค์ประกอบที่เกี่ยวกับองค์การแห่งการเรียนรู้ (2) เพื่อพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก (3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบองค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก และ (4) ศึกษาความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ การศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา ( R&D: Research and Development) เก็บข้อมูลจาก ครูและผู้บริหารจำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน รวมทั้งสิ้น 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (1) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) (2) แบบประเมินความพร้อมในการพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ (3) แบบประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้(สำหรับผู้บริหารและครูผู้สอน) มีค่า IOC เท่ากับ 0.98 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่น ของครอนบาค (Cronbachs alpha) เท่ากับ 0.96 (4) แบบประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ (สำหรับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน) มีค่า IOC เท่ากับ 0.88 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นของครอนบาค เท่ากับ 0.91 (5) แบบสอบถามระดับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก มีค่า IOC เท่ากับ 0.97 มีค่าความเชื่อมั่น (Cronbachs alpha) เท่ากับ 0.99 (6) แบบสอบถามความเหมาะสมของรูปแบบการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ในการนำไปใช้ปฏิบัติ
ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ เพื่อหาค่าสถิติค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษา พบว่า
1. สภาพปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน ในระดับบุคคลขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะการใช้เทคโนโลยี การมีวัฒนธรรมในการทำงานที่ดี การมีส่วนร่วมในการบริหาร การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ในระดับกลุ่มยังไม่มีการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงาน
2. ผลการพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก พบว่ามี 11 ขั้นตอน และการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 5 ประการ คือ (1) สร้างความตระหนัก (2) การกำกับติดตามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (3) การจูงใจ/เงื่อนไข (4) กำหนดนโยบาย (5) การปรับโครงสร้างองค์การ
3. ผลการใช้รูปแบบองค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก ที่พัฒนาขึ้นสามารถพัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้
4. ความพึงพอใจต่อการพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองจิก อยู่ในระดับมาก