บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนบ้านหนองจิก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
ชื่อผู้ประเมิน : นายสุพะศิน อยู่ยอด
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2559
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองจิก ปีการศึกษา 2559 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย ครูผู้สอนจำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 48 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 64 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างตามตารางของ Krejcie and Morgan
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 3 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS for windows
ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านหนองจิก ด้านสภาวะแวดล้อม พบว่า อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองจิกด้านปัจจัย พบว่า อยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองจิกด้านกระบวนการ พบว่า อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองจิกด้านผลผลิต โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า
4.1 ด้านความรู้ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครูส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และได้รับการพัฒนาความรู้โดยการศึกษาด้วยตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ การอบรม สัมมนาและศึกษาดูงาน แหล่งเรียนรู้ที่ครูได้รับความรู้เรียงตามลำดับคือ ข้อมูลอินเทอร์เน็ต รองลงมาคือ รายการโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ สำหรับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ในระดับมากเป็นลำดับแรกคือ การรู้จักวางแผนในการดำเนินชีวิต รองลงมาคือ การใช้สติปัญญาในการทำงานและดำเนินชีวิต และการรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
4.2 ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ครูส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้โดยสอดแทรกในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สอน รองลงมาคือ บูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน วิธีการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครูส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง รองลงมาคือ การอภิปราย และการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน สื่อที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ครูผลิตสื่อขึ้นเอง รองลงมาคือ จัดทำสื่อร่วมกับคณะครูและนักเรียน และนักเรียนจัดหาหรือผลิตมา วิธีการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครูส่วนใหญ่ประเมินจากพฤติกรรมการเรียนรู้ รองลงมาคือ ประเมินโดยการตรวจผลงาน และแฟ้มสะสมผลงาน สำหรับคุณธรรมที่นักเรียนได้รับจากการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า นักเรียนมีคุณธรรมในระดับมากเป็นลำดับแรกคือนักเรียนมีระเบียบวินัย รองลงมาคือนักเรียนมีความซื่อสัตย์สุจริต นักเรียนมีความสามัคคี และนักเรียนมีความเมตตากรุณา
4.3 สภาพการปฏิบัติของนักเรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่รู้สึกละอายเมื่อทำผิด รองลงมาคือ ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เป็นประจำ และแสดงความคิดเห็นอย่าง มีเหตุผล
4.4 สภาพการปฏิบัติของครูผู้สอนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ครูส่วนใหญ่รู้จักวางแผนในการดำเนินชีวิต เปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็นในการปฏิบัติงาน และรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย