ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ
เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ผู้วิจัย นายเอี่ยมสกุล หมุนลี
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ และมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ 2)เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาสภาพการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ 2) การสร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ท่าอิฐ 3) การทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาล 4 ) การประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ศึกษาสภาพการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ
จากการศึกษาสภาพการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ จากเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน และการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของ คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา จากผลการศึกษาสภาพพบว่าสิ่งที่เป็นประเด็นในการพิจารณาที่สำคัญ เป็น 4 ด้าน คือ 1) ด้านครูผู้สอน 2) ด้านนักเรียน 3) ด้านสื่อ และแหล่งเรียนรู้ และ 4) ด้านความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการศึกษา
2. การสร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ท่าอิฐ
การสร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ มีความตรงและความเหมาะสมมาก โดยผู้วิจัยได้ยกร่างรูปแบบสังเคราะห์เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาศักยภาพวิชาการ และนำร่างไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และผู้เชียวชาญได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางสังเคราะห์รูปแบบพัฒนาศักยภาพวิชาการ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ 1 การพัฒนาศักยภาพครู กลยุทธ์ 2 การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ กลยุทธ์ 3 การพัฒนาสื่อและแหล่งเรียนรู้ และ กลยุทธ์ 4 : การส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนใน
การจัดการศึกษา
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ
สรุปได้ดังนี้ 1 ) ผลการพัฒนาศักยภาพครู พบว่า ครูได้รับการพัฒนาตนเองมีการพัฒนาแผนการจัดการ
เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน สามารถออกแบบกิจกรรมได้หลากหลาย มีการใช้กระบวนการกลุ่มจัดกิจกรรม การใช้ความคิด อภิปราย การแก้ปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น มีการทำวิจัยในชั้นเรียนครูมี ความกระตือรือร้น สนใจ แสวงหาความรู้ และสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้ทุกคน 2) ผลการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ พบว่า มีผลงานการเรียนรู้ที่หลากหลาย จากการที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติจริง จากการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ทำให้นักเรียนเป็นนักแสวงหาความรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน การเรียนรู้แบบโครงงาน ตามรูปแบบการเรียนรู้แบบกระตือรือร้น (Active Learning มีคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษ ที่ 21 โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง 3) ผลการพัฒนาสื่อและแหล่งเรียนรู้ พบว่า ครูมีการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และนำสื่อมาใช้ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ ความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาห้องสมุด มีชีวิต ซึ่งมีทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลาย 4) ผลการส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการศึกษา พบว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น มีการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหาของนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองได้พบปะพูดคุยกับครูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และมีการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ข้อมูลแก่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ 5) ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ของนักเรียน ปีการศึกษา 2560 สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปีการศึกษา 2559 และปีการศึกษา 2558 และจะเห็น ได้ว่าร้อยละของผลการเรียนเฉลี่ยทุกรายวิชาใน ปีการศึกษา 2560 ผ่านเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกรองนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก