1. ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้
สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
ผู้วิจัย นางจุรีพร คุริรัง รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง
2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำทางไปสู่สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ และเพื่อให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก อันเนื่องมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information and Communication Technology : ICT) ซึ่งได้แพร่ซึมเข้าไปในทุกวงการ รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องปรับตัวให้ทัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 หมวด 4 แนวทางการจัดการศึกษา ได้สะท้อนความตื่นตัวที่จะปฏิรูปการศึกษา โดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตที่เน้นให้ผู้เรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด การจัดการศึกษามุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความยืดหยุ่น สนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท ดังนั้น บทบาทของผู้สอนและผู้จัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้ช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อ และแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องสู่การพัฒนาตนเองแก่ผู้เรียนเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของตน (กระทรวงศึกษาธิการ 2553 : 11 - 12)
ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันควรเน้นการมี และใช้แหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งนี้เพราะการให้ความสำคัญกับแหล่งการเรียนรู้เพียงแหล่งเดียว คือระบบโรงเรียน อย่างเช่นปัจจุบันนั้นอาจไม่สามารถพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และทรัพยากรของชุมชน และอาจจะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ขาดความสามารถ ทักษะการดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองตามวิถีของชุมชน เนื่องจากไม่มีแหล่งการเรียนรู้อื่นเข้ามาเสริม การปฏิรูปการศึกษา ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ในมาตรา 4 ได้ให้ ความหมายของการศึกษาไว้ว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นศูนย์รวม หรือศูนย์กลางของความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการของการเรียนรู้ มีประโยชน์ทั้งในแง่การกระจายโอกาสทางการศึกษา การให้การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต จึงมีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่มีผลต่อการสร้างกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งควบคู่ไปกับการจัดการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. 2548 : 1)
นักวิชาการได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมมากมาย เช่นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการที่ จะทำให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมขึ้นในองค์การหรือไม่ คือ ผู้นำ จากแนวคิดของเฮ้าส์ (House. 1971:460-465) ผู้นำที่สามารถทำให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผู้นำที่มีพฤติกรรม มีการแบ่งปันข่าวสารข้อมูล (Sharing of Information) การแบ่งปันอำนาจ (Sharing of Power) การแบ่งปันอิทธิพล (Sharing of Influence) องค์ประกอบทั้ง 3 ประการ จะเป็นตัวบ่งชี้ บรรดาผู้นำในองค์การต่างๆได้เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ปฏิบัติงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานได้มากน้อยเพียงใด ความมากกว่าหรือน้อยกว่า จะเป็นตัวที่มีผลกระทบต่อความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานว่าเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ (Positive or Negative) ซึ่งธรรมชาติของการบริหารแบบมีส่วนร่วมประการหนึ่ง คือ การลดอำนาจ (Reduce Power) ของผู้บริหารให้อยู่ในภาวะที่เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับผู้ปฏิบัติงาน สำหรับฮัลโลแรน(Halloran) เปรียบผู้นำแบบมีส่วนร่วมว่าเป็นผู้นำตามทฤษฎี Y ของแมคแกรเกอร์ (McGregor) เหตุผลเพราะผู้บริหารมองว่าคนงานเป็นคนตามทฤษฎี Y ผู้บริหารก็จะบริหารคนแบบ Y คือให้เกียรติ ให้ความเชื่อถือ และมอบหมายงานให้รับผิดชอบแล้วนำมาประยุกต์กับการวิจัยและพัฒนาเป็นงานที่มีลักษณะสร้างสรรค์ ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มพูนคลังความรู้ ทั้งความรู้ที่เกี่ยวกับมนุษย์ วัฒนธรรมและสังคม และการใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ใหม่ๆ (มนต์ชัย พงศนฤวงษ์. 2552 : 10-12) ซึ่งจำแนกได้ 3 ประเภท คือ การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) การวิจัยทดลอง (Experimental Research) และ การประเมินผลเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการทดลอง เพื่อสรุปผลจากการศึกษาแนวคิด กระบวนการของการวิจัยและพัฒนา R and D (Research and Development) การวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนที่สำคัญคือ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research: R1) : การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development: D1) : การพัฒนาและหาประสิทธิภาพ ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย(Research: R2) : การทดลองใช้ และขั้นตอนที่ 4 การพัฒนา (Development: D2) : การประเมินและปรับปรุงแก้ไข สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนารูปแบบตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา นำมาประยุกต์เป็นรูปแบบ (Model) ใช้เป็นกระบวนการพัฒนาการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนต่อไป
โรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการจัดการศึกษาตามนโยบายและเป้าหมายการดำเนินการอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้านดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนการสอน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบบริหาร เน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของบุคลากร ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง ชุมชน และอัตลักษณ์ของโรงเรียน และยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนและสากล โรงเรียนได้นำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาจากการประเมินภายในสถานศึกษา ด้านครู และนักเรียน ดังกล่าว มาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ ที่ประชุมได้ตกลงกันวิเคราะห์หาของข้อมูลที่ครูและผู้บริหารได้รวบรวมมา เพื่อต้องการวิเคราะห์ SWOT Analysis เพื่อหาจุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ในการบริหารจัดการในงานต่าง ๆ ในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง พบว่า มีจุดแข็งอยู่บ้างแต่ผู้ร่วมศึกษาได้หยิบยกขึ้นมาเฉพาะจุดอ่อนที่ควรพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังนี้ โรงเรียนจัดแหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ได้เพียงบางส่วนและยังไม่มีคุณภาพเพียงพอเหมาะแก่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และไม่ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่โรงเรียนยังมีปัจจัยแวดล้อมซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดแหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้เพื่อใช้จัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพได้ หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ และบุคลากรสามารถที่จะดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปัญหาในด้านการจัดสภาพแวดล้อมในห้องปฏิบัติการบางห้องไม่เหมาะสม และไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การเรียนรู้ยังขาดแหล่งเรียนรู้สำหรับให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนยังมีบางรายวิชาอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ ครูยังไม่ได้นำเอาสื่อและเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการเหล่านั้น เช่น คอมพิวเตอร์ ทางด้านการประเมินผลนักเรียนของครูยังใช้ข้อสอบแบบปรนัยแบบเลือกตอบเป็นส่วนมากไม่ได้ประเมินตามสภาพที่แท้จริงและไม่จัดห้องปฏิบัติการให้เหมาะสมและจูงใจให้แก่นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ให้เกิดทักษะในการใช้ห้องปฏิบัติการเหล่านั้น
ผู้วิจัยในฐานะรองผู้อำนวยการสถานศึกษา รับผิดชอบในด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมและห้องปฏิบัติการให้สามารถใช้เป็นห้องปฏิบัติการที่มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานของนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน และให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 1 และยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนการสอน และการพัฒนาระบบบริหาร เน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของบุคลากร ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง ชุมชน และอัตลักษณ์ของโรงเรียน ได้ใช้แนวคิดในการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยส่งเสริมให้มีการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน จึงมีความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ
เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง
จังหวัดร้อยเอ็ด
2. เพื่อการสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อเป็น
แหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
3. เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้
สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
4. เพื่อประเมินความพึงพอใจในการใช้รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ
เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง
จังหวัดร้อยเอ็ด
4. ระเบียบวิธีการวิจัย
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็น แหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการวิจัยตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยมีครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ปีการศึกษา 2560 เป็นหน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) โดยมีแนวคิดสำคัญที่ผู้วิจัยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาล วัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และความพึงพอใจของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียน ที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาในครั้งนี้
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ จำนวน 382 คน ได้แก่ ครู จำนวน 70 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 298 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้จากการเปิดตารางเครจซี่แอนด์มอร์แกน (มาเรียม นิลพันธุ์. 2553 :120 ; อ้างอิงมาจากKrejcie and Morgan. 1970 : 608) โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และการสนทนากลุ่ม
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ทดสอบที แบบไม่อิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา
5. ผลการวิจัย
5.1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็น แหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
การเสนอผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด คำถามการวิจัยข้อที่ 1 คือ การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า โรงเรียนจัดแหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ได้เพียงบางส่วน และยังไม่มีคุณภาพเพียงพอเหมาะแก่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และไม่ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่โรงเรียนยังมีปัจจัยแวดล้อมซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดแหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้เพื่อใช้จัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพได้ หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ และบุคลากรสามารถที่จะดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5.2 การสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็น แหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
ผลสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รูปแบบ การบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่ผู้วิจัยประยุกต์ขึ้นใช้ชื่อเรียกว่า PAPE Model ซึ่งได้พัฒนาตามหลักการและแนวคิดการออกแบบตามรูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) และแนวคิดทฤษฎีรูปแบบของนักการศึกษา นักจิตวิทยาและนักวิชาการ โดยมีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ สาระความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หลักการตอบสนองและสิ่งสนับสนุน โดยมีส่วนประกอบดังนี้ P : Planning = การวางแผน A : Action = การปฏิบัติ P : Participation = การมีส่วนร่วม และ E : Evaluation การประเมินผลในการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลการประเมินความเหมาะสม ปรากฏว่า มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ของรูปแบบนี้
5.3 การทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
ผลการดำเนินการทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีการนำรูปแบบไปแจ้งในที่ประชุมปรึกษาหารือไปใช้ในการดำเนินงานให้แก่ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียน ผลการทดลองใช้โดยรวมอยู่ในระดับมาก
5.4 การประเมินความพึงพอใจในการใช้รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
การประเมินความพึงพอใจในการใช้รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ปรากฏว่า ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียน มีความพึงพอใจโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
6. ข้อเสนอแนะ
ผู้วิจัยใคร่ขอเสนอแนะการวิจัยเชิงนโยบายและการนำเสนอเชิงนำไปใช้ ดังนี้
1. ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1.1 ผู้บริหารสถานศึกษาควรกำหนดเป็นนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาในการพัฒนาการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ให้เกิดประสิทธิภาพต่อการศึกษาของผู้เรียนอย่างแท้จริง
1.2 ผู้บริหารสถานศึกษาควรสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ทุกห้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน
1.3 ผู้บริหารควรมีการวางแผนเพื่อพัฒนาบุคลากรในเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นระบบ
1.4 ผู้บริหารควรจัดกิจกรรมการจัดนิทรรศการของครูในแต่ละปีการศึกษา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูได้มีการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ในหลากหลายกิจกรรมมากขึ้น
2. ข้อเสนอเชิงนำไปใช้
2.1 ควรนำผลการวิจัยมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผู้เรียนในโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ครูและนักเรียนรู้จักพัฒนาห้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสภาพของการเรียนการสอน
2.2 ครูควรจัดทำสื่อประกอบการสอนที่ใหม่ ๆ และทันต่อยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อที่ครูจะได้สื่อประกอบการสอนเป็นที่น่าสนใจของนักเรียนในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
2.3 ครูควรมีการเชื่อมโยงบูรณาการในการใช้ห้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้มากขึ้น
2.4 ครูที่ผ่านการพัฒนาแล้ว ควรจะมีการพัฒนาต่อไปโดยอาจจะใช้วิธีการการจัดการบริหารห้องปฏิบัติการแบบใหม่ ๆ ในวิชาที่สอนเดิม หรือการใช้วิธีการสอนแบบเดิมกับวิชาใหม่ เพื่อเปรียบเทียบว่าให้ผลแตกต่างกันหรือไม่หลังจากการใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มีการพัฒนาแล้ว
ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาการพัฒนาครูในการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการที่สามารถใช้สื่ออื่น ๆ ให้สอดคล้องกับการสอนแบบบูรณาการ
2. ควรศึกษารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้วยวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อทราบถึงสภาพจริงของห้องปฏิบัติการที่ครูและนักเรียนใช้เป็นประจำ
7. การนำไปใช้ประโยชน์
1. ประโยชน์ต่อนักเรียน
1.1 ทำให้นักเรียนได้รู้จักใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้น
1.2 นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการของสถานศึกษาจนทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
2. ประโยชน์ต่อครู
2.1 ใช้เป็นรูปแบบและข้อสนเทศ ให้ครูได้นำไปใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาประสิทธิภาพในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการของโรงเรียนเทศบาล วัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากยิ่งขึ้น
2.2 ทำให้ครูได้แนวทางในการจัดการเรียนการสอน ให้เป็นไปตามรูปแบบการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการของโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ดให้เกิดประสิทธิภาพด้านการจัดการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
3. ประโยชน์ต่อผู้บริหาร
3.1 เป็นรูปแบบและข้อสนเทศสำหรับให้ผู้บริหาร ได้นำไปใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาประสิทธิภาพ ในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ ของโรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่ผู้เรียนมากขึ้น
4. ประโยชน์ต่อโรงเรียน
4.1 เป็นข้อสนเทศสำหรับสถานศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดในการนำไปประกอบการตัดสินใจในการวางแผนพัฒนากระบวนการการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาอันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาต่อไป
4.2 โรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ดได้นำข้อสนเทศที่ได้ ไปปรับปรุงและแก้ไข จุดด้อยของการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการของโรงเรียนให้เกิดเป็นจุดเด่น ทำให้การบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการมีคุณภาพ และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4.3 สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความต้องการในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เกิดการพัฒนาและมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเข้าสู่แนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีคุณภาพ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 และ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553
4.4 โรงเรียนเทศบาลวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้แนวทางในการพัฒนาการมี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษา
5. ประโยชน์ต่อชุมชน
5.1 ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการในสถานศึกษา
เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือต่อกันในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5.2 โรงเรียนและชุมชนได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพต่อการบริหารสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล วัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อไป
5.3 บุตรหลานในชุมชนได้เกิดการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ที่เกิดจากการมีห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมทันต่อยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้กับสภาพการจัดการเรียน การสอนมีคุณภาพทางการศึกษาดีขึ้น