ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร
โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย นางสาวอุราพร ชาติวัฒนธาดา
สถานศึกษา โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ๒ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรม การเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD 3) ศึกษาระดับ
ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD
เก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/5 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ๒ ตำบล
มะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 45 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ซึ่งใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่มด้วยวิธีการจับฉลากห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประกอบด้วยเนื้อหาจำนวน 19 ชั่วโมง โดยแบ่งเนื้อหาความรู้และนำมาสร้างเป็นชุดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 5 เล่ม 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 ฉบับ เป็นข้อสอบแบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบทดสอบประจำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 19 แผน 4) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 ฉบับ จำนวน 15 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบได้แก่ สถิติทดสอบที
ผลการวิจัยพบว่าชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 85.86/83.77 ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้สูงกว่าก่อนใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และนักเรียนมีความพึงพอใจที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด