บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในด้านการจัด
การเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยผสานทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์กับกลวิธี
การให้เหตุผลเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยผสานทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
กับกลวิธีการให้เหตุผลเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ดังนี้ 3.1 เปรียบเทียบการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียน ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3.2 เปรียบเทียบการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนหลังเรียนระหว่างกลุ่มนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้กับนักเรียน
ที่เรียนด้วยวิธีปกติ กลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ประกอบด้วย ครูและนักเรียนจากโรงเรียน
ในอำเภอปางศิลาทอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2 ดังนี้
ระยะที่ 1 ได้แก่ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ที่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 19 คน
ครูและนักเรียนที่ได้รับการสัมภาษณ์ จำนวน 17 คน ระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่างทดลองใช้รูปแบบ
ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลปางศิลาทอง จำนวน 40 คน และระยะที่ 3
กลุ่มตัวอย่างศึกษาผลการใช้รูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านท่าขึ้น จำนวน 23 คน เป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลปางศิลาทอง จำนวน 25 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent Samples) และ Hoteling - T2
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัญหาครูสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ให้บรรลุผล และมีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมการเรียนด้านดังกล่าวอยู่ในระดับน้อย = 2.39,
S.D. = 0.60 โดยเฉพาะการฝึกให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ อธิบายข้อมูลความรู้ที่มีการอ้างอิงเหตุผลเหมาะสมและน่าเชื่อถือผ่านการใช้ประสบการณ์ความรู้เดิม ขณะที่ครูและนักเรียนมีความต้องการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณในระดับมาก = 4.34,
S.D. = 0.47
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยผสานทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์กับกลวิธี
การให้เหตุผลเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคุณภาพและความเหมาะสม ในระดับมาก = 4.34, S.D. = 0.47 ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้
ที่ประกอบด้วย 1) หลักการ แนวคิด ทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง 6) ระบบสนับสนุน โดยมีกระบวนการเรียนรู้ 6 ขั้น ได้แก่ ขั้นสร้างความสนใจ ขั้นสร้างความเข้าใจเหตุการณ์หรือสถานการณ์และเชื่อมโยงประสบการณ์พื้นฐาน ขั้นสรุปความรู้และค้นหาคำตอบ ขั้นไตร่ตรองและยอมรับการลงความเห็นผ่านการอ้างอิงและข้อโต้แย้ง และขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ประสิทธิภาพ
ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เมื่อคำนวณจากการทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียน มีค่าเท่ากับ 82.70/80.17 และเมื่อคำนวณจากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียน (E1/E2) มีค่าเท่ากับ 82.70/82.42
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า
3.1 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถ
ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.2 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถ
ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนด้วย
วิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05