ชื่อวิจัย การศึกษาความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
เทคนิค STAD
ผู้วิจัย นางสาวศิริพร ศรีใหญ่
ปี พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD 2) เปรียบเทียบความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD และ 3) เปรียบเทียบ ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 หลังการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD กับเกณฑ์ร้อยละ 65
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 1 ห้องเรียน ซึ่งมีจำนวนนักเรียน 36 คน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 50 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.63 คะแนน หลังเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.30 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 87.52 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.70 คะแนน มีความก้าวหน้าเฉลี่ย 4.33 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 21.66 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.92 คะแนน
2. ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 65 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
บทนำ
จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเขียนคำประพันธ์ที่หลากหลาย ที่จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เพื่อจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพ ซึ่งคำประพันธ์ที่นำไปใช้ส่วนใหญ่จะเป็นคำประพันธ์สั้นๆ นำเสนอเนื้อหาที่ตรงประเด็น บอกรายละเอียดหรือการโฆษณาสินค้า ผลิตภัณฑ์ และแสดงไมตรีจิตกับบุคลในสังคม เช่น โอกาสวันครบรอบแต่งงาน เปิดกิจการใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด งานเกษียณอายุราชการ และ การแสดงความยินดีในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น ลักษณะคำประพันธ์ที่นิยมใช้ส่วนมาก ได้แก่ คำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11 และกลอนสุภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นความสนใจ ยังทำให้จดจำได้ดี และยังเป็นการสืบทอดความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาทางภาษาของคนไทยที่ควรรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง แต่ปรากฏว่าผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในหน่วยที่ 1 เรื่องคัมภีร์แพทย์ศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11 พบว่านักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่5/8 ซึ่งเป็นนักเรียนแผนการเรียนอุตสาหกรรม ห้องเรียนชายล้วน มีอารมณ์ค่อนข้างร้อน สมาธิสั้น มีความพยายามในการทำความเข้าใจเรื่องที่ยากน้อย ส่วนใหญ่ขาดทักษะในการแต่งคำประพันธ์ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องยากและตนไม่สามารถแต่ง คำประพันธ์ได้ นอกจากนี้ผลการเรียนด้านภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด จากทั้งหมดแปดห้อง โดยเฉพาะในเรื่องของการแต่งคำประพันธ์ นักเรียนไม่แม่นในเรื่องฉันทลักษณ์ สัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ ใช้คำคล้องจองไม่ถูกต้อง ไม่รู้จังหวะคำ แบ่งจังหวะคำไม่ได้ ถ้อยคำที่นำมาเรียบเรียงเป็นคำพูด ร้อยแก้วที่ยังไม่มีคำสัมผัสในคล้องจอง หากนักเรียนแต่งคำประพันธ์ได้ ก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกล่อมเกลาให้ผู้เรียนมีความอ่อนโยนด้วยศิลปะในการใช้ถ้อยคำที่ผ่านการกลั่นกรองมาจากความคิด ความรู้สึกได้ จากสภาพปัญหาดังกล่าว ครูผู้สอนภาษาไทยเห็นว่าควรแก้ปัญหานี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรังและแก้ไขยากเมื่อนักเรียนอยู่ในระดับชั้นที่สูงขึ้นและต้องแต่งคำประพันธ์ประเภทอื่นที่ยากขึ้น จึงนำคำประพันธ์ประเภท กาพย์ยานี 11 มาใช้ในการแก้ปัญหา เนื่องจากคำประพันธ์ประเภทดังกล่าวนิยมแต่งมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยนิยมแต่งเป็นบทสวด กาพย์เห่เรือ ท่วงทำนองการแต่งจะเป็นการเล่าเรื่อง ดำเนินเรื่องอย่างกระชับ แต่นุ่มนวลแช่มช้า มีการเล่นสัมผัสเพื่อให้เกิดความไพเราะ ดังเช่น กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ นอกจากนี้คำประพันธ์ดังกล่าวยังสามารถแต่งได้ง่ายกว่า คำประพันธ์ประเภทอื่น เพราะมีการกำหนดตำแหน่งสัมผัสบังคับไม่มาก เอื้อต่อการพลิกแพลง แต่งเติมได้อย่างเสรี ผู้แต่งไม่ต้องพะวงกับข้อบังคับ อีกทั้งมีท่วงทำนองเรียบง่าย งดงาม มีการใช้คำที่ให้ความหมายเด่นชัดอยู่ในตัว จึงเป็นรูปแบบที่ตอบสนองความสนใจและความพอใจของคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี
การแก้ปัญหาและพัฒนาความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ นอกจากการจัดการเรียน การสอนตามแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว ยังควรหาเทคนิคและวิธีการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแต่งคำประพันธ์ได้ถูกต้องคล่องแคล่ว วิธีการจัดการเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนประสบความสำเร็จ และเกิดการเรียนรู้ที่ดี ดังนั้นการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนได้ครบ ทุกด้าน นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน และมีทักษะกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค STAD ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Robert E. Slavin เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อครูผู้สอน และทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดีขึ้น เพราะนักเรียนต้องทำคะแนนด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีการช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ (กาญจนา อุปสาร. 2547) ดังผลการศึกษางานวิจัยของสมศักดิ์ ทองบ่อ (2549) ได้ศึกษาผลการเรียนแบบร่วมมือจากการใช้เทคนิค STAD โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนภาษาไทยเรื่องรูปและเสียงในภาษาไทย พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ได้รับ การสอนแบบร่วมมือจากการใช้เทคนิค STAD สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบปกติ อีกทั้งผลงานวิจัยของ อดิศร ขาวสะอาด (2556) ได้ศึกษา การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านจับใจความภาษาไทยของนักเรียนที่จัดการเรียนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD สูงกว่าก่อนเรียน สอดคล้องกับ อิศรา รุ่งอภิญญา(2558) ได้ศึกษาการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางเรียนเรื่องชนิดของประโยคที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD สูงกว่าก่อนเรียน
จากหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ แนวคิดของการเรียนรู้แบบร่วมมือ และจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะนำรูปแบบการจัด
การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เนื่องจากการเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียน จะช่วยทำให้นักเรียนสนใจการเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากยิ่งขึ้นและมีความพยายามที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของตนให้มากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียน
มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และมีความสารถในการเขียนคำประพันธ์ให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้มรดกทางวัฒนธรรมไทยด้านภาษามาสูญหายและเยาวชนไทยยังได้รับการพัฒนาในด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างสงบสุขสืบไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถของนักเรียนในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ก่อนและหลัง ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
3. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11 ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 หลังการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD กับเกณฑ์ ร้อยละ 65
ความสำคัญของการวิจัย
1. ทำให้ทราบผลการศึกษาความสามารถในแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11 ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
2. เป็นแนวทางสำหรับครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนา
ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11 สำหรับชั้นอื่น ๆ ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
ขอบเขตของการวิจัย
1. ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 378 คน โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ 5/8 โรงเรียน
โนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 1 ห้อง จำนวนนักเรียน 36 คน ได้มาโดย การสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling)
3. ตัวจัดกระทำ
ตัวจัดกระทำ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
4. ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี11
ผลการวิจัย
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 50 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.63 คะแนน หลังเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.30 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 87.52 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.70 คะแนน มีความก้าวหน้าเฉลี่ย 4.33 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 21.66 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.92 คะแนน
2. ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 65 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
อภิปรายผล
จากผลการวิจัย ผู้วิจัยได้นำมาอภิปรายผลดังนี้
1. จากผลการศึกษาความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD พบว่า ความสามารถทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 65 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เนื่องมาจาก การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD เป็นเทคนิคหนึ่งของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ที่ผู้สอนนำเสนอเนื้อหาโดยย่อให้ผู้เรียนฟัง แล้วให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อศึกษาเนื้อหาและการแก้ปัญหาร่วมกัน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548 : 108) ซึ่งจะแบ่งผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันออกเป็นกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกัน กลุ่มละประมาณ 4-5 คน
โดยกำหนดให้สมาชิกของกลุ่มได้เรียนรู้ในเนื้อหาสาระที่ผู้สอนจัดเตรียมไว้แล้วทำการทดลองความรู้ คะแนนที่ได้จากการทดลองของสมาชิกแต่ละคนนำเอามาบวกเป็นคะแนนรวมของทีม ผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคการเสริมแรง เช่น ให้รางวัล คำชมเชย เป็นต้น สมาชิกจะต้องมี
การกำหนดเป้าหมายร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม (สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. 2551 : 170) ดังที่นักวิชาการได้กล่าวว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นวิธีการเรียนรู้ที่นักเรียนจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและความสำเร็จของกลุ่ม ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ (Slavin. 1995 : 2-7) และการเรียนแบบร่วมมือยังเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน ได้เรียนรู้ร่วมกันโดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และในความสำเร็จของกลุ่ม คนที่เรียนเก่งจะช่วยเหลือคนที่อ่อนกว่า สมาชิกในกลุ่มไม่เพียงแต่รับผิดชอบต่อการเรียนของตนเท่านั้น หากแต่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเพื่อนสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ความสำเร็จ ของแต่ละบุคคลคือความสำเร็จของกลุ่ม (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2542 : 34) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของณัฏชญา พันธรัตน์ (2547) ได้ศึกษาผลของวิธีสอนแบบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD กับการกำกับตนเอง วิชาสังคมศึกษา ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเทคนิค STAD มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาสังคมศึกษาสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .01
ข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัย ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
1. ข้อเสนอแนะทั่วไป
1.1 จากผลการวิจัยพบว่า การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค เน้นการแบ่งงานกันทำ ช่วยเหลือกัน ร่วมมือกันทำงานที่ได้รับมอบหมาย มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยให้ผู้เรียนมีการพัฒนาด้านสังคมและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ซึ่งผู้สอนควรจัดอย่างต่อเนื่องและให้เหมาะสมกับเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
1.2 การใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค STAD อาจมีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม ดังนั้นเพื่อให้ควบคุมเวลาได้อย่างเหมาะสม ผู้สอนควรเตรียมความพร้อม วางแผนการสอนอย่างรอบคอบ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ และจัดแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจน ก่อนที่จะทำการสอน
1.3 แผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค STAD เด็กที่เรียนรู้ได้ช้าของแต่ละกลุ่มส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ครูควรกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น
1.4 การจัดนักเรียนเข้ากลุ่มในช่วงแรก มีนักเรียนที่เก่งบางคนไม่ยอมรับนักเรียน
ที่อ่อน และนักเรียนที่อ่อนบางคนไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม ครูผู้สอนจะต้องพยายามอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานกลุ่มว่าทุกคนในกลุ่มมีความสำคัญท่าเทียมกันที่จะทำให้กลุ่มประสบผลสำเร็จ ทุกคนในกลุ่มต้องช่วยเหลือกันอย่างสุดความสามารถ
1.5 ในการกำหนดรางวัลที่ให้เมื่อกลุ่มประสบความสำเร็จ ครูควรชี้ให้นักเรียน
เห็นว่ารางวัลที่ได้เป็นเพียงสิ่งเสริมแรงเท่านั้นไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายสูงสุดคือความรู้
ที่จะได้รับตลอดจนทักษะการทำงานกลุ่ม
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป มีดังนี้
2.1 ควรมีการศึกษาความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ประเภทอื่น เช่น กลอน โคลง ฉันท์ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค STAD
2.2 ควรมีการศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถทางการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค STAD ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
2.3 ควรมีการศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถทางการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค STAD กับเกณฑ์ร้อยละ 65 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น