ชื่อเรื่อง การพัฒนากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน
โรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม
ผู้วิจัย สุรชัย สุทธิอาจ
ปี พ.ศ. 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากลยุทธ์
ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการดำเนินการตามกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย ผู้วิจัย คือ นายสุรชัย สุทธิอาจ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม ผู้ร่วมวิจัยเป็นครูที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 12 คน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จำนวน 60 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 133 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 60 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 60 คน โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) การดำเนินการ
ที่เป็นวงจรตามแนวคิดของ Kemmis and McTagart (ประวิต เอราวรรณ์. 2546 : 11-20) ได้ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นการปฏิบัติ (Action) ขั้นการสังเกต (Observation) และขั้นการสะท้อนผล (Reflection) กำหนดระยะเวลาแต่ละวงรอบ ดังนี้ วงรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 วงรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) คู่มือดำเนินการพัฒนา 2) แบบบันทึกการดำเนินงาน 3) แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม 4) แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 5) แบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำเสนอข้อมูลโดยใช้ตารางประกอบการอธิบายและการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยปรากฏผล ดังนี้
1. จากการดำเนินการพัฒนากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม พบว่า โดยภาพรวมเป็นที่น่าพอใจมาก สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามเจตนารมณ์ ผ่านเกณฑ์การประเมิน จาก
ผลการดำเนินการทั้ง 2 วงรอบ พบว่า นักเรียนส่วนมากสามารถลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลงได้อย่างน่าพอใจ ผ่านเกณฑ์การประเมิน แต่ยังพบว่า มีนักเรียนบางคนที่ยังคงแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อยู่เหมือนเดิม คือ ด้านการมาโรงเรียนสาย พบว่า ยังมีนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 1 คน สาเหตุเกิดจากนอนตื่นสายเป็นประจำ ด้านการหนีเรียน พบว่า ยังมีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 1 คน สาเหตุเกิดจากเรียนไม่เข้าใจและการบ้านไม่เสร็จ ด้านการแต่งกายผิดระเบียบของโรงเรียน พบว่า ยังมีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 2 คน สาเหตุเกิดจากอยากไว้ทรงผมแบบดาราหรือนักกีฬา และอยากแต่งตัวให้ทันสมัย ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไปอย่างเนื่อง การดำเนินงานในภาพรวม พบว่า การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของคณะครูและผู้ปกครองนักเรียนในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และต้องอาศัยการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เข้มงวด ต่อเนื่องจากครู เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีวินัยในตนเอง เป็นเยาวชนที่เจริญงอกงามทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีคุณภาพอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และยังพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น
2. ประสิทธิผลของการดำเนินการตามกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม
2.1 ผลการประเมินพฤติกรรมนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หลังผ่านกระบวนการพัฒนาทั้ง 2 วงรอบ ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการประเมินผลพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับเลิกพฤติกรรม (x̄ = 4.72) คิดเป็นร้อยละ 93.33 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2.2 ผลการศึกษาความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินการตามกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม พบว่า ครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินการตามกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.59) ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานรวมค่อนข้างต่ำ (S.D. = 0.35) แสดงว่าครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยรวมสอดคล้องกัน