ชื่อเรื่อง รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้ศึกษา นายทศพล สุวรรณราช
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
รายงานการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ รายวิชาวิทยาศาสตร์ 5 ว23101 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ปีการศึกษา 2560 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพ (E1/E2) ตามเกณฑ์ 80/80 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเปรียบเทียบก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ประชากรคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 565 คน และกลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 1 ห้องเรียน รวม 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 83.45/81.27 2) แผนการจัดการเรียนรู้ ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงวุฒิ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีความเชื่อมั่นโดยใช้สูตร KR-20 ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน (Kuder Richardson) เท่ากับ .90 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach) เท่ากับ .87 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t (t-test Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 คือมีประสิทธิภาพเฉลี่ยรวมเท่ากับ 80.15/80.05
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สูงกว่าก่อนการใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น โดยรวมอยู่ในระดับดีมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.58