ผู้ศึกษา นางจินตนา กองเกิด
ปีที่พิมพ์ 2560
หน่วยงาน โรงเรียนไตรมิตรพัฒนศึกษา อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3
บทคัดย่อ
การรายงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของ
การจัดประสบการณ์โดยใช้แบบฝึกเพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อศึกษาผลเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนทดสอบเพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียนโดยใช้แบบฝึก ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีต่อแบบฝึกเพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนไตรมิตรพัฒนศึกษา อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 ปีการศึกษา 2560
ภาคเรียนที่ 2 จำนวน 13 คน ได้จากการเลือกด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง ( Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียนโดยใช้แบบฝึก ในวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ ทั้ง 4 หน่วย จำนวน 10 แผน
แบบฝึกเพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียน จำนวน 10 ฉบับ แบบทดสอบย่อยการวัดความพร้อมทางการเขียน ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 10 ชุด ชุดละ 5 ข้อ รวมทั้งหมด จำนวน 50 ข้อ แบบทดสอบวัดความพร้อมทางการเขียน ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 1 ฉบับ จำนวน 30 ข้อ แบบวัดความพึงพอใจของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีต่อแบบฝึก เพื่อเตรียมความพร้อม
ทางการเขียน จำนวน 8 ข้อ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) สถิติที่ใช้
ในการวิเคราะห์ข้อมูล ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ประสิทธิภาพของกระบวนการ ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ และการทดสอบสมมติฐานโดยใช้ Dependent Samples t test ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการศึกษาประสิทธิภาพของการจัดประสบการณ์โดยใช้แบบฝึกเพื่อพัฒนา
ความพร้อมทางการเขียน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 พบว่ามีประสิทธิภาพ 85.23/85.64
ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนทดสอบเพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียนโดยใช้แบบฝึก ชั้นอนุบาลปีที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผู้เรียนมีความพึงพอใจที่มีต่อแบบฝึกเพื่อพัฒนาความพร้อมทางการเขียน โดยรวม
อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 2.40