ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา
ผู้ศึกษา วสันต์ จุลพล
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา 2) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน
กับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา 3) เพื่อประเมินการปฏิบัติการด้านกระบวนการของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา 4) เพื่อประเมินผลที่ได้รับด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา และ 5) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL ซึ่งเป็นการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,443 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 1 คน ผู้ช่วยผู้บริหาร จำนวน 3 คน คณะครูประจำการ จำนวน 111 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 337 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 320 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 337 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 320 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 กลุ่ม กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970 : 608 อ้างถึงใน สิน พันธุ์พินิจ, 2554 : 137) ได้จำนวน 736 คน และสุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) (สิน พันธุ์พินิจ, 2554 : 129) ได้แก่ คณะครูประจำการ จำนวน 80 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 170 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 158 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 170 คน และผู้ปกครองนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 158 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามการประเมินโครงการ จำนวน 7 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าความถี่ และค่าร้อยละ ทดสอบสมมติฐานโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) สถิติทดสอบ F-test และเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มรายคู่ด้วยวิธี Scheffe test
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินความเหมาะสมด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินการปฏิบัติการด้านกระบวนการ (Process) ของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา พบว่า โดยรวมมีการปฏิบัติการ
อยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินผลที่ได้รับด้านผลผลิต (Product) ของโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา พบว่า ผลที่ได้รับด้านผลผลิต ได้แก่ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนกับโรงเรียน ผลที่เกิดจากนักเรียน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดกิจกรรมและพัฒนาการศึกษา และความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ อยู่ในระดับมาก ทั้ง 4 ด้าน และผ่านเกณฑ์การประเมิน
5. ผลการวิเคราะห์ความแตกต่างของความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ พบว่า ผู้บริหาร คณะครู และคณะกรรมการสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐาน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05