ชื่อเรื่อง รายงานการสร้างและใช้แบบฝึกกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ สาระเพิ่มเติม
โครงงานวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางทัศนาพร ต้นกันยา ตำแหน่งครู วิทยฐานะชำนาญการ
โรงเรียนบ้านวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1)เพื่อพัฒนาแบบฝึกกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ สาระเพิ่มเติม โครงงานวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพ 70/70 (2)เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (3)เพื่อศึกษาความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (4)เพื่อศึกษาความคิดเห็น ผู้รายงาน ครูผู้ร่วมรายงาน นักเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้แบบฝึกกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านวังชัย ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 20 คน รูปแบบการศึกษาแบบกึ่งทดลอง(Quais Experiment) เป็นการศึกษาโดยให้มีกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลเปรียบเทียบก่อนและหลังทดลอง (One group Pre-test Post-test Design) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ (1) แบบฝึกกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 ชุด 4 แบบฝึก (2) แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ จำนวน 40 ข้อ ที่มีความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.34-0.80 และมีค่าอำนาจการจำแนกระหว่าง 0.20-0.64 ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.86 (3)แบบประเมินความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ (4) แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนการสอนของครูและนักเรียน (5) แบบบันทึกความคิดเห็นครูผู้ร่วมรายงาน นักเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ผลการศึกษาพบว่า
1.แบบฝึกกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ สาระเพิ่มเติม โครงงานวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70 เท่ากับ 82.00 /87.88
2. นักเรียนมีทักษะทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียนที่กำหนดไว้หรือ ร้อยละ 70 โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 32.82 คะแนน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 82.00 ของคะแนนเต็ม และมีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 จำนวน 17 คน จากนักเรียนทั้งหมด 20 คน คิดเป็นจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์เป้าหมาย ร้อยละ 87.88 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนที่กำหนดไว้ คือร้อยละ 70
3. นักเรียนมีความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์โดยภาพรวมเฉลี่ยผ่านเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70 โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80.30 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 70
4. ความคิดเห็นของผู้ศึกษา ครูผู้ร่วมศึกษา และนักเรียนมีความคิดเห็น ที่ตรงกันว่าการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน สาระเพิ่มเติม โครงงานวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้แบบฝึกกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น และสนใจในการเรียน นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น สามารถพัฒนาการคิดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กล้าแสดงความคิดเห็น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และกล้าแสดงออก รู้จักการทำงานที่เป็นระบบกลุ่ม มีความสามัคคี นักเรียนมีการพัฒนาผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ และมีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองหรือของกลุ่ม