คำสำคัญ : การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน/ผลการเรียนรู้/ทักษะการแก้ปัญหา
นางสุกัญญา เกื้อสุข : การศึกษาผลการเรียนรู้และทักษะการแก้ปัญหา เรื่องเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
ปีการศึกษา : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเป็นแบบแผนการวิจัยแบบ The One Group Pretest Posttest Design โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 3) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 4) เพื่อศึกษาทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 5) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านขัน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ แบบทดสอบทักษะการแก้ปัญหา และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t test) แบบ Dependent และรวมทั้งการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 81.11/85.95
2. ผลการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานโดยคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดการเรียนรู้ (x̄= 20.14, S.D. = 4.91) สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ (x̄ = 11.29, S.D. = 3.21) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ดัชนีประสิทธิผลการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนมีความรู้ในการเรียนเพิ่มขึ้น 0.4732 คิดเป็นร้อยละ 47.32
4. ทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน พบว่า นักเรียนมีทักษะการแก้ปัญหามากที่สุดในทักษะการระบุปัญหาอยู่ในเกณฑ์ระดับ ดี
5 ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วย มาก