ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้แบบฝึก ทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นายจำรัส เขียวงาม
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านหนองหล่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 1
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหนองหล่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวนนักเรียน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าประกอบด้วยแบบทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7 เล่ม เวลาเรียน 20 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีค่าระดับความยากง่ายที่มีค่าตั้งแต่ 0.45 0.82 และคัดเลือกข้อสอบที่มีค่าระดับความยากง่ายที่เหมาะสมมีค่าระดับความยากง่ายตั้งแต่ 0.45 0.77 ได้จำนวน 31 ข้อ และผลการวิเคราะห์ได้ข้อสอบที่มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ (-0.09 0.59) คัดเลือกข้อสอบที่มีค่าอำนาจจำแนกที่เหมาะสม มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.23 0.59 ได้จำนวน 31 ข้อ คัดเลือกข้อสอบที่มีค่าระดับความยากง่ายและค่าอำนาจจำแนกที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จำนวน 30 ข้อ นำผลคะแนนจากการสอบมาหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบโดยใช้สูตรการคำนวณของ Kuder Richardson 20 (KR-20) ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.7416 และแบบวัดเจตคติของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิเคราะห์หาค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ที่อยู่ในเกณฑ์ความเที่ยงตรงตามเนื้อหาที่ใช้ได้ นำแบบวัดเจตคติที่ปรับปรุงแก้ไขตามที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ เพื่อประเมินความเที่ยงตรงตามเนื้อหาตลอดจนความเหมาะสมในการใช้ภาษา แล้วนำมาวิเคราะห์หาค่าความสอดคล้อง ดังนี้ นำผลการประเมินความสอดคล้อง (IOC) มาคัดเลือกข้อสอบที่มีค่า (IOC) ตั้งแต่ 0.5 ถึง 1.0 ผลการพิจารณาพบว่า ทุกข้อมีค่า IOC มากกว่า 0.5 คือ มีค่าตั้งแต่ 0.6-1.0 ผู้ศึกษาจึงคัดเลือกไว้ 30 ข้อ นำคะแนน ที่ได้มาคำนวณหาค่าความเที่ยง (Reliability) ทั้งฉบับ โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา (α-Coefficient) ของ Cronbach ได้ค่าความเที่ยง 0.771 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาค่าความเที่ยงตรง(Validity) การหาค่าความยากง่าย(p) การหาค่าอำนาจจำแนก( r ) และการหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability)
ผลการศึกษาค้นคว้าปรากฏ ดังนี้
ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร
รายวิชา คณิตศาสตร์ ค23101 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านหนองหล่ม จังหวัดพะเยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 1 พบว่า แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์นี้มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x ̅= 4.56 และ S.D. = 0.55 )และประสิทธิภาพรวม ของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร มีประสิทธิภาพE1/E2 เท่ากับ 87.63/88.67 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 75/75 เป็นไปตามสมมติฐานของการศึกษาข้อที่ 1
ผลการเปรียบเทียบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนบ้านหนองหล่ม ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร
มีค่าเฉลี่ยร้อยละก่อนเรียนเท่ากับ 38.00 และค่าเฉลี่ยร้อยละหลังเรียนเท่ากับ 82.67 ซึ่งสูงกว่า
ค่าเฉลี่ยร้อยละก่อนเรียนและสูงกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 เป็นไปตามสมมติฐาน
ของการศึกษาข้อที่ 2
ผลการศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหนองหล่ม
ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก คือ มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.26 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.67เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า
ข้อ 6.ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิชาคณิตศาสตร์มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และข้อ 5ข้าพเจ้ารู้สึกว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่าย มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.70 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.48 รองลงมา คือ ข้อ 8.ข้าพเจ้าคิดว่าการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เป็นสิ่งท้าทาย และข้อ 14 ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ไม่มีเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.60 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.52 รองลงมา คือ ข้อ 9 วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยากสำหรับข้าพเจ้า ข้อ 12 ข้าพเจ้าอยากให้หมดเวลาเร็วๆ เมื่อเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และ ข้อ 23 หนังสือเรียน สื่อการสอน นวัตกรรมไม่หลากหลาย ไม่น่าสนใจ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อเมื่อเรียนคณิตศาสตร์
มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.50 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.71 เป็นไปตามสมมติฐานของการศึกษาข้อที่ 3