บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามแนวทาง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางงุ้น อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
ชื่อผู้รายงาน : นายฉลอง นนทวงศ์
ปีที่รายงาน : พ.ศ. 2560
การรายงานการประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินบริบท 2) เพื่อประเมินปัจจัยเบื้องต้น 3) เพื่อประเมินกระบวนการ และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางงุ้น อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ปีการศึกษา 2560 ขอบเขตของการประเมินด้าน ประชากร ประกอบด้วย ได้แก่ ครูและบุคลากร จำนวน 16 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 46 คน ผู้ปกครองจำนวน 60 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ยกเว้นผู้บริหาร และครูที่เป็นตัวแทนในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้ประชากร รวมทั้งสิ้น จำนวน 129 คน ขอบเขตด้านเนื้อหาได้ประเมินการดำเนินงานตามโครงการ ในด้านบริบทด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตโดยสอบถามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 5 รายการ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน ความรู้ และความมีคุณธรรม ส่วนความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางงุ้น อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา จำนวน 14 กิจกรรม รวมถึงการวัดความพึงพอใจต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น จำนวน 4 ฉบับ เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการประเมิน
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด โดยเฉพาะด้านความเป็นไปได้ที่โครงการจะประสบความสำเร็จ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเหมาะสมมากซึ่งปัจจัยด้านงบประมาณมีความเหมาะสมมากที่สุด ส่วนปัจจัยอื่นทั้งด้านวัสดุอุปกรณ์ ด้านบริหารจัดการ และด้านบุคลกรมีความเหมาะสมมากตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินโครงการพบว่าโดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเหมาะสมมาก ทั้งยังพบว่าการนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผล การดำเนินงาน ในกิจกรรมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินผลผลิตโครงการ
4.1 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงพบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเหมาะสมมาก
4.2 ความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางงุ้น อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา พบว่าโดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
4.3 ผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางงุ้น อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ นักเรียนรักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย และเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ รองลงมาคือ มีจิตใจดีงาม
ไม่หลงไปตามกระแส หรือความเปลี่ยนแปลงของสังคม และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีย์
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1. ผู้บริหารต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบถึงแนวนโยบายความสำคัญของโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางงุ้น อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
2. เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงในการเตรียมการวางแผน การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาพัฒนาปรับปรุงก่อนเปิดภาคเรียน โดยบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปี
3. ผลกระทบหลักที่มีต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการดำเนินงานทุกกิจกรรม ต้องส่งเสริมกิจกรรมที่มีลักษณะการพัฒนาที่สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และควรต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายสามารถวัดได้ตามสภาพที่แท้จริง (Authentic Assessment) ครอบคลุมทั้งผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนคุณลักษณะคนไทยที่พึงประสงค์ และเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
4. ระดมสรรพกำลังในท้องถิ่น ทั้งภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกภาคส่วนสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ นอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐ
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาเรื่องผลกระทบทางด้านคุณภาพการศึกษา ที่เกิดขึ้นจากโครงการส่งเสริม
การจัดกิจกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนที่นำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา มีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับชุมชน สังคม และผู้ปกครองอย่างแท้จริง ดังนั้นในการวิจัยครั้งต่อไปควรมีการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participation Action Research) ที่เริ่มจากการศึกษาปัญหา (Problem Based) เพื่อหาแนวทางลด และกำจัดช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง
2. ควรศึกษาและให้ความสำคัญเรื่องบทบาท หน้าที่ และภารกิจของครูและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินโครงการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยแท้จริง บรรลุ ตามเจตนารมณ์ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. การน้อมนำกระแสพระราชดำรัสแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติในสถานศึกษานั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรมีการวิจัยโดยกระบวนการเชิงระบบ (System Approach) เพื่อเป็นการศึกษาการดำเนินงานอย่างรอบด้านและหลากหลายมิติ