การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้
ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
นางยุวธิดา ลอยประโคน
ทำวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง พันธะเคมี จากการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือ ด้วยเทคนิค STAD และ (3) ศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากการเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 โรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี จำนวน 4 ชุด และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน (2) เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่า 0.89 และแบบวัด จิตวิทยาศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.93/82.89 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 (2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย และ (3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะ หาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีจิตวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.73
2
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายทางการศึกษาที่ตราไว้เพื่อให้หน่วยงาน และผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาทุกระดับ ปฏิบัติตามข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ ดังนั้นการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องวิเคราะห์บทบัญญัติในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 ซึ่งระบุว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และในมาตรา 23 ระบุว่าการจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม อาทิ ข้อ (2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน และมาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ระบุว่าให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ เช่น จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2558 : 12-13)
ในสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์มีบทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและงานอาชีพ ต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้และผลผลิตต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ในชีวิตและการทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่น ๆ วิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลาย และมีประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์และมีคุณธรรม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 92)
การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอนทั้งของครูและนักเรียน กล่าวคือลดบทบาท ของครูผู้สอนจากการเป็นผู้บอกเล่า บรรยาย สาธิต ไปเป็นการวางแผนการจัดกิจกรรมให้นักเรียน เกิดการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนต้องเน้นที่บทบาทของนักเรียนตั้งแต่เริ่มคือ ร่วมวางแผนการเรียน การวัดผลประเมินผล และต้องคำนึงว่ากิจกรรมการเรียนนั้น เน้นการพัฒนากระบวนการคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ จากแหล่งเรียนรู้หลากหลาย ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา การมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และการสร้างคำอธิบายเพื่อนำไปสู่คำตอบของปัญหาหรือคำถามต่าง ๆ ในที่สุดสร้างองค์ความรู้ได้ ทั้งนี้กิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าวต้องพัฒนานักเรียนให้เจริญพัฒนาทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546 : 215-216)
3
โรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านสังแก ตำบลราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เปิดทำการสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้หลักสูตรโรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก พุทธศักราช 2552 ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2557 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระดับโรงเรียน ชุมชน ครอบครัว และบุคคลต้องร่วมรับผิดชอบ โดยร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในการวางแผนดำเนินการ ส่งเสริมสนับสนุน ตรวจสอบ ตลอดจนปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ในการนี้ผู้รายงาน เป็นครูผู้สอนรายวิชาเคมี กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีความตระหนัก ถึงความสำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามกฎหมายทางการศึกษา ตลอดจนหลักการ จุดหมายของหลักสูตร และเป้าหมายคุณภาพที่สถานศึกษากำหนดไว้ และผู้รายงานมีความตั้งใจ ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเคมีให้มีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และจิตวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอน กำหนดความต้องการจำเป็น กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนา และดำเนินการแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
1. การวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและปัญหา ในปีการศึกษา 2558 ผู้รายงานได้นำข้อมูลจาก การจัดการเรียนรู้รายวิชา ว31221 เคมี 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 มาวิเคราะห์และพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 65.85 และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนโดยรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.75 คิดเป็นร้อยละเท่ากับ 68.75 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง (โรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก, 2558 : 29-30) สรุปได้ว่าผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมาย ที่โรงเรียนกำหนดไว้ร้อยละ 70
2. กำหนดความต้องการจำเป็น ผู้รายงานนำปัญหาที่สำคัญซึ่งต้องการแก้ไขมากำหนด ความต้องการจำเป็น ดังนี้
2.1 ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดร้อยละ 70 ผู้รายงานจึงกำหนดความต้องการจำเป็นคือ ต้องพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชา ว31221 เคมี 1 ให้บรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ร้อยละ 70 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป
2.2 ปัญหาด้านจิตวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ย 68.75 ซึ่งมีคุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง ผู้รายงานจึงกำหนดความต้องการจำเป็นคือ ต้องการพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีค่าเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป หรือร้อยละ 70 ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในระดับมาก
3. กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนา ผู้รายงานกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา หรือการพัฒนา ดังนี้
3.1 พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยการจัดสภาพการเรียนรู้ให้เหมาะสม เน้นให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ ใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้จริง ดำเนินการติดตามผล ประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
3.2 พัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนโดยจัดสภาพการเรียนรู้ให้เหมาะสมในการพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ ประเมินผลการพัฒนาควบคู่ไปในกระบวนการเรียนรู้ ให้ผลย้อนกลับให้ผู้เรียนทราบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง
4
4. ดำเนินการพัฒนาโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา ผู้รายงานกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการพัฒนา ดังนี้
4.1 ผลิตสื่อหรือสร้างนวัตกรรม ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558
4.2 สร้างเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบวัดจิตวิทยาศาสตร์
4.3 ทดลองใช้นวัตกรรมและเครื่องมือวิจัย ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558
4.4 พัฒนานวัตกรรมที่สร้างขึ้นพร้อมทั้งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยดำเนินการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 แล้วนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องต่อไป
จากแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้รายงานได้ศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยศึกษาวิธีสอน เทคนิคการสอน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา โดยศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว พอสรุปได้ว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ดี เพราะเป็นการนำนวัตกรรมมาส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น (วรวิทย์ นิเทศศิลป์, 2551 : 267) ซึ่งสอดคล้องกับชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2543 : 117) กล่าวว่าชุดการเรียนหรือชุดการสอนช่วยให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสูง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ฝึกการตัดสินใจ ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบ และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ชุดการเรียนได้ผลิตขึ้นโดยมีพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยาซึ่งเป็นการประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งคำนึงถึง ความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับแนวความคิดของ สุนันทา สุนทรประเสริฐ (2547 : 1) กล่าวว่าชุดการเรียนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้พัฒนามาจากวิธี การเรียนการสอนหลาย ๆ ระบบเข้ามาประสมประสานกันให้กลมกลืนกันได้อย่างเหมาะสม นับตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเอง การร่วมกิจกรรมกลุ่ม การใช้สื่อในรูปแบบต่าง ๆ มีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้เกิด การเรียนรู้ไปทีละน้อย มีโอกาสคิดใคร่ครวญ มีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น ได้ลงมือปฏิบัติ และผู้เรียนมีโอกาสเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จโดยการทราบผลย้อนกลับทันทีหลังจาก การทำกิจกรรม
ในด้านการจัดการเรียนรู้ ทิศนา แขมมณี (2553 : 95) กล่าวว่าเทคนิคการสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็น การให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้ การเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนจาก การให้ความรู้ ไปเป็น การให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ดังนั้นบทบาทของครูก็คือจะต้องทำหน้าที่ช่วยสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดแก่ผู้เรียน จัดเตรียมกิจกรรม การเรียนรู้ที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียน ดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปในทางที่ส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียน ให้คำปรึกษาทั้งด้านวิชาการ และด้านสังคมแก่ผู้เรียน ดูแลช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหา และประเมินการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน สำหรับเทคนิคในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD หรือการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD (Student Teams Achievement Divisions) ซึ่งเป็นเทคนิคการสอนที่ครบวงจร ผู้เรียนเรียนรู้ได้โดยการลงมือปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
5
โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ เน้นให้มีการแบ่งงานกันทำ ช่วยเหลือและร่วมมือกันทำงานที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจบบทเรียนจะทดสอบเป็นรายบุคคล เปิดโอกาสให้นักเรียนปรับปรุงคะแนนการทดสอบได้ แล้วนำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนของกลุ่ม มีการประกาศคะแนนของกลุ่ม กลุ่มใดมีคะแนนเฉลี่ยถึงเกณฑ์ ที่กำหนดไว้จะได้รับรางวัล (ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์, 2552 : 197) นอกจากนี้การสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD บังเกิดผลดีต่อนักเรียนหลายประการ เช่น นักเรียนมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายมากขึ้น มีแรงจูงใจภายในและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ มีการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เหตุผลดีขึ้น และคิดอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนดีขึ้น และมีสุขภาพจิตดีขึ้น ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี, 2553 : 99-101) ผู้รายงาน ได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการสอนโดยใช้ชุดการเรียน และรูปแบบการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD เพื่อสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยของพิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนอยู่ในระดับมาก ผลการวิจัยของรุ่งทิพย์ ศศิธร (2554 : 5-6, 40-42) เรื่องการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ไฟฟ้าเคมี ด้วยการเรียนรู้แบบร่วมมือกับชุดการเรียนรู้แบบ 5E ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการวิจัยของวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียน เรื่องธาตุและสารประกอบ ที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
จากความสำคัญของปัญหาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตลอดจนหลักการและเหตุผลดังกล่าว การดำเนินการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้บรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผู้รายงานมีแนวคิดว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะ หาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD จะสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนให้บรรลุตามจุดหมายของหลักสูตรและเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดไว้ได้ ดังนั้นผู้รายงานจึงทำการวิจัยและพัฒนาในหัวข้อ การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะ หาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD เพื่อนำสารสนเทศจากการวิจัยไปใช้ ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่อไป
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง พันธะเคมี จากการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
3. เพื่อศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากการเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
6
3. สมมติฐานการวิจัย
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้ชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
1. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอน แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป
2. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป
3. เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
5. วิธีการดำเนินการวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงการทดลองเบื้องต้น ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้
5.1 รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ซึ่งเป็นการทดลองในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design)
5.2 ตัวแปรที่ศึกษา ประกอบด้วย
5.2.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้ชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
5.2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง พันธะเคมี
2) จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
5.3 ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 72 คน จาก 3 ห้องเรียน
5.4 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 โรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
5.5 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย
5.5.1 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่
1) ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี จำนวน 14 ชุด
2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน
7
5.5.2 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ เป็นแบบทดสอบปรนัยแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก
2) แบบวัดจิตวิทยาศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ เป็นแบบวัดแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ
5.6 วิธีดำเนินการวิจัย
ผู้รายงานดำเนินการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวและมีการวัดผลก่อนและหลังการทดลอง โดยดำเนินการดังนี้
5.6.1 ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้ชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
5.6.2 วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน โดยให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และเก็บรวบรวมข้อมูลไว้
5.6.3 จัดการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ครั้งละ 1 ชุด รวม 14 ชุด วัดและประเมินผลการเรียน และเก็บรวบรวมข้อมูลไว้
5.6.4 เมื่อดำเนินการจัดการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะ หาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD เสร็จสิ้นครบ 14 ชุด แล้ววัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน โดยให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน
5.6.5 วัดจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยให้นักเรียนตอบแบบวัดจิตวิทยาศาสตร์
5.7 การวิเคราะห์ข้อมูล
5.7.1 วิเคราะห์ประสิทธิภาพชุดการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้สถิติร้อยละ
5.7.2 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ t-test
5.7.3 วิเคราะห์จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
6. สรุปผลการวิจัย
1. ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.93/82.89 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีจิตวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.73
8
7. อภิปรายผลการวิจัย
7.1 พัฒนาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี พบว่า ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พันธะเคมี รายวิชาเคมี 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.93/82.89 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 เนื่องจากผู้รายงานได้สร้างชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ตามขั้นตอนการผลิตชุดการสอนแผนจุฬาทุกประการ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา การวางแผนการสอน การผลิตชุดการเรียน และการทดสอบประสิทธิภาพ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2543 : 117-119) นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการ ความถนัด และความสนใจของนักเรียน นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การศึกษาใบความรู้ การทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันโดยมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น และสรุปเนื้อหาจนเข้าใจดีแล้ว จึงทำแบบฝึกหัด ซึ่งนักเรียนสามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้อง จึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการมีค่าร้อยละ สูงกว่าเกณฑ์ 80 และหลังจากนักเรียนตอบคำถามแล้วมีการทบทวนความรู้และปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อนักเรียนทดสอบหลังเรียนจึงทำได้ถูกต้อง จึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพของผลลัพธ์มีค่าร้อยละ สูงกว่าเกณฑ์ 80 และทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของลลิตา เอียดนุสรณ์ (2553 : 46-54) เรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความเข้าใจที่คงทนในการเรียนเรื่องการหายใจระดับเซลล์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ด้วยชุดการเรียนรู้โดยกระบวนการสืบเสาะแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 5E พบว่าชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ 86.40/81.01 สอดคล้องกับผลการวิจัยของพิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่าชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.18/81.56 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียน เรื่อง ธาตุ และสารประกอบ ที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 ซึ่งพบว่าชุดการเรียนที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.55/81.71
7.2 ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง พันธะเคมี
จากการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิคSTAD นักเรียนได้ทำกิจกรรมอย่างหลากหลายทั้งกิจกรรมรายบุคคลและกลุ่ม เริ่มต้นจากนักเรียนได้ทดสอบก่อนเรียน ซึ่งทำให้ทราบพื้นฐานความรู้เดิมของตนเองในเรื่องที่จะเรียน เมื่อนักเรียนศึกษาใบความรู้ แล้วนักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมอย่างหลากหลาย มีการรายงานผลการปฏิบัติกิจกรรม และการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในชั้นเรียน ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างถูกต้อง และเมื่อนักเรียนได้ทดสอบความรู้ของตนเองจากการทำแบบฝึกหัด ทำให้นักเรียนทราบว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเพียงใด และในขั้นสุดท้ายนักเรียนทดสอบหลังเรียน เมื่อทราบผลย้อนกลับว่าตนเองได้คะแนนเท่าใด มีข้อบกพร่องหรือไม่อย่างไร พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ โดยการทดสอบหลังเรียนอีกครั้งเพื่อปรับปรุงคะแนนให้ดีที่สุด ซึ่งจากกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องดังกล่าวจึงมีผลทำให้นักเรียน
9
ได้พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนจึงสูงกว่าก่อนเรียน ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของพิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่องการพัฒนา ชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สอดคล้องกับผลการวิจัยของรุ่งทิพย์ ศศิธร (2554 : 5-6, 40-42) เรื่องการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน เรื่อง ไฟฟ้าเคมี ด้วยการเรียนรู้แบบร่วมมือกับชุดการเรียนรู้แบบ 5E ซึ่งพบว่านักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการวิจัยของวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียน เรื่อง ธาตุ และสารประกอบที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
7.3 ผลการศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากการเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD พบว่านักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอน แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD มีจิตวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.73 เนื่องจากในการจัดการเรียนรู้นักเรียนได้ใช้ชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ของครู ซึ่งทำให้นักเรียนพัฒนาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน และผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของพิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่าจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนโดยรวมอยู่ในระดับมาก และผลการวิจัยของสุพรรณี ผิวศรี (2557 : 133-134) เรื่อง การพัฒนาชุดการสอนเรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่าจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
8. ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้
1.1 ในการจัดการเรียนรู้ เรื่อง พันธะเคมี โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ ร่วมกับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ครูมีบทบาทในการชี้แนะและอำนวยความสะดวก ในการเรียนรู้ของนักเรียน และช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและกลุ่มมากที่สุด นอกจากนี้ครูควรให้การเสริมแรง อย่างเหมาะสม เช่น ชมเชยนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยของความก้าวหน้าสูงขึ้น การให้รางวัลสำหรับกลุ่มคะแนนเฉลี่ยของความก้าวหน้าสูงขึ้น อันดับที่ 1-3 เป็นต้น
1.2 ครูควรชี้แจงให้นักเรียนทราบว่านักเรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นนักเรียนจะต้องมีความมุ่งมั่น ใฝ่เรียนรู้ และรับผิดชอบในการเรียนทั้งของตนเองและกลุ่ม เพราะความสำเร็จของแต่ละคนจะนำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกันของกลุ่ม
1.3 การจัดชั้นเรียนและสภาพแวดล้อม ควรชัดชั้นเรียนให้มีจำนวนนักเรียนพอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอน แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ควรจัดกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4-5 คน
10
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับ การสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ไปใช้ในการวิจัยรายวิชาต่าง ๆ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
2.2 ควรนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับ การสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ไปใช้ศึกษากับตัวแปรอื่น ๆ เช่น เจตคติต่อการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ ความพึงพอใจ เป็นต้น