ชื่อเรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้เทคนิคการระดมพลังสร้างสรรค์ : กรณีศึกษา
การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ชื่อวิจัย ฉันทลักษณ์ ศรีผา
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ โดยนำหลักการ การระดมพลังสร้างสรรค์ (Appreciation Influence Control : AIC) ที่เข้ามามีส่วนสำคัญเพื่อการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม 3 ขั้นตอน คือ 1) การวางแผนการวิจัย โดยการศึกษาบริบทชุมชน และการแสวงหากิจกรรมและความรู้ ด้วยเทคนิค การระดมพลังสร้างสรรค์ (Appreciation Influence Control : AIC) 2) การปฏิบัติและสังเกตผลตามแผนการดำเนินงาน และ 3) การสะท้อนผลการพัฒนา ซึ่งในแต่ละขั้นตอน ผู้วิจัยใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Non -Structured interview).เพื่อสำรวจบริบทชุมชน เป็นเครื่องมือที่ผู้วิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่รวบรวมข้อมูลจากการสังเกตและการสอบถาม 2) แบบบันทึกผลการสังเกตการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุในชุมชน เป็นเครื่องมือที่ผู้วิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่รวบรวมข้อมูลจากการสังเกตการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุ 3) แบบสอบถามสำหรับผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม เป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อศึกษาและการสะท้อนผลที่ได้ภายใต้มุมมองของผู้สูงอายุแต่ละคน ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 4 คน) 2) ผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ 3) ผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ (อาสาสมัคร กศน. จำนวน 2 คน) 4) ผู้ร่วมจัดกิจกรรม/ผู้ร่วมกิจกรรม และดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล ดังต่อไปนี้ 1) รวบรวมข้อมูลจากเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูล (Constant comparison) โดยตรวจสอบความสอดคล้องและถูกต้องของข้อมูล 2) การจัดระเบียบข้อมูล (Data organizing) 3) ประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยทำไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทุกครั้งที่ได้ข้อมูลมาต้องจัดประเภทและจัดหมวดหมู่ของข้อมูล สังเคราะห์ แปลความหมายและตีความข้อมูลที่ได้รวบรวมมาทุกครั้ง 4) ตรวจสอบความเชื่อถือได้ (Credibility) ของข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) เพื่อตรวจสอบสาระที่ได้จากหลายๆมุมมอง ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้การตรวจสอบจากภายนอก ด้วยวิธีการใช้แหล่งข้อมูลที่แตกต่างกันมาวิเคราะห์เพื่อหาผลสรุป ความสอดคล้องของข้อมูล ซึ่งใช้เก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
การสรุปผลการวิจัยได้สรุป 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 การวางแผนการวิจัย โดยการศึกษาบริบทชุมชน และการแสวงหากิจกรรมและความรู้ ด้วยเทคนิค การระดมพลังสร้างสรรค์ (Appreciation Influence Control : AIC) ตอนที่ 2 ผลการวิจัย เกี่ยวกับสภาพความสำเร็จ และปัจจัยหรือเงื่อนไขที่เป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factors - CSFs) ในการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ตอนที่ 3 ข้อเสนอแนะ
สรุปผลการวิจัย
ตอนที่ 1 การวางแผนการวิจัย โดยการศึกษาบริบทชุมชน และการแสวงหากิจกรรมและความรู้ ด้วยเทคนิคการระดมพลังสร้างสรรค์ (Appreciation Influence Control : AIC)
1. การวางแผนการวิจัย โดยการศึกษาบริบทชุมชน และการแสวงหากิจกรรมและความรู้ ด้วยเทคนิค การระดมพลังสร้างสรรค์ (Appreciation Influence Control : AIC) โดยการจัดประชุมกลุ่มเวทีชาวบ้าน ซึ่งมีประชากรในพื้นที่เข้าร่วม 55 คน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันวิเคราะห์ชุมชน มองสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยใช้เทคนิคการระดมพลังสร้างสรรค์ (AIC) ที่มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วม โดยเริ่มที่
1.1 ขั้นตอนการสร้างความรู้ (Appreciation : A) โดยการทบทวนสถานการณ์ชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และร่วมกันกำหนดอนาคตหรือแนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันในวันข้างหน้าตามสภาพที่ต้องการ โดยมุ่งเน้นความคิดเห็นระหว่างกันอย่างให้เกียรติและเท่าเทียมกัน ไม่ครอบงำความคิดระหว่างกัน ซึ่งได้ผลสรุปคือ บ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากรทั้งหมด 436 คน เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธ์ มีรักใคร่ ความสามัคคี รักษาประเพณีอันดีงามสืบทอดกันมา เช่น บุญบั้งไฟ การแข่งเรือยาว เป็นต้น มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปัญหาในด้านขยะมีบ้าง ส่วนสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไม่มีปัญหาใด ๆ และปัจจุบัน สภาพสังคมเปลี่ยนไปจากที่ครอบครัวเคยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ คือ พ่อ แม่ ลูกหลาน ปู่ ย่า ตา และยาย เป็นครอบครัวขนาดเล็ก และมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่จะมีมากถึง จำนวน 115 คน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามลำพังสามีภรรยา หรือบางครอบครัวมีหลานอยู่ด้วย ซึ่งลูกๆ ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ไปทำงานต่างจังหวัด ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีเวลาว่างตลอดทั้งวัน และไม่ได้รับการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนมากนัก นอกจากกิจกรรมวันผู้สูงอายุและการรับเบี้ยยังชีพเท่านั้น และนอกจากนี้ ยังพบว่า เยาวชนในชุมชนเริ่มเป็นสังคมก้มหน้า ไม่ค่อยสนใจบุคคลรอบข้างและสิ่งรอบข้าง และพบว่าในชุมชนมีจุดแข็งคือ มีผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และบุคลากร กศน. อำเภอราศีไศล ทำงานเป็นทีมและเป็นที่รักของคนในชุมชนนั้น ๆ และเมื่อให้ประชาชนร่วมกันเลือกอนาคตที่อยากเห็นในชุมชน สรุปได้ว่าส่วนใหญ่อยากให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มากที่สุด โดยด้านสุขภาพทางกายอยากให้สามารถดูแลตนเองได้ในเบื้องต้น ด้านสังคมอยากให้มีกิจกรรมที่พบปะและทำกิจกรรมเกี่ยวกับนันทนาการร่วมกัน ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านการปฏิบัติทางศาสนา โดยการเล่านิทานธรรมะและอ่านคำคล้องจองธรรมะ รองลงมาคือ อยากให้เสริมความรู้เกี่ยวกับทักษะด้านการดูแลลูกหลาน การดูแลบ้านเรือน การเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในแต่ละยุคสมัย ตลอดจนการบริโภคที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
1.2 ขั้นตอนการสร้างแนวทางพัฒนา (Influence : I) โดยประชาชนร่วมกันกำหนดแนวทางความสำเร็จในรูปแบบของกิจกรรมที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน และการร่วมกันคัดเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมที่สุดเพื่อที่จะดำเนินการ และการร่วมกันจัดลำดับกิจกรรม เพื่อพิจารณาว่ากิจกรรมใดควรดำเนินการก่อนหลัง ได้ผลสรุป คือ สามารถกำหนดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยใช้หลักการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่เน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาชีวิต ดังต่อไปนี้ 1) กายบริหาร/ออกกำลังกาย/การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 2) กิจกรรมนันทนาการโดยการฟ้อนรำ 3) กิจกรรมคุยเฟื่อง...เล่าเรื่องอาชีพ 4) กิจกรรมการเล่าสู่กันฟัง (นิทานธรรมะ และคำคล้องจองธรรมะ) 5) กิจกรรมการประดิษฐ์ศิลปะประดิษฐ์ ประกอบด้วย การสานตะกร้า และการทำดอกไม้จันทน์
1.3 ขั้นตอนการสร้างแนวทางการปฏิบัติ (Control : C) โดยการร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติ ระยะเวลา ทรัพยากร และแบ่งผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละโครงการหรือกิจกรรม โดยที่กิจกรรมในข้อ 1) กายบริหาร/ออกกำลังกาย/การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และข้อ 2) กิจกรรมนันทนาการโดยการฟ้อนรำ ดำเนินการทุกเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง โดยมีผู้วิจัย ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 3 คน) และผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ (อาสาสมัคร กศน. จำนวน 2 คน) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรม ร่วมกับนักวิชาการขององค์กรบริหารตำบลส้มป่อย และบุคลากรของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มชมรมผู้รักษ์สุขภาพตำบลส้มป่อย รับผิดชอบหลักจะจัดเตรียมสถานที่ และมีนางหม่อน หงส์อินทร์ ร่วมเป็นผู้นำในการออกกำลังกายและฟ้อนรำ ให้ผู้สูงอายุได้ยืดเส้นยืดสาย รู้วิธีการออกกำลังกาย การนวด ที่ถูกวิธีสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้สูงวัย พร้อมทั้งการตอบคำถามที่ผู้สูงอายุต้องการเรียนรู้
ส่วนกิจกรรม ข้อ 3) กิจกรรมคุยเฟื่อง...เล่าเรื่องอาชีพ และข้อ 4) กิจกรรมการเล่าสู่กันฟัง (นิทานธรรมะ และคำคล้องจองธรรมะ) ดำเนินการ 4 ครั้งในช่วงเดือน พฤษภาคม กันยายน 2560 โดยมีผู้วิจัย ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 3 คน) และผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ (อาสาสมัคร กศน. จำนวน 2 คน) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรม ร่วมกับนักวิชาการขององค์กรบริหารตำบลส้มป่อย
และ 5) กิจกรรมการประดิษฐ์ศิลปะประดิษฐ์ ประกอบด้วย การสานตะกร้า ดำเนินการ 1 ครั้ง โดยมีผู้วิจัย ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 3 คน) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรม ส่วนวิชาชีพการทำดอกไม้จันทน์ ดำเนินการในช่วงเดือน พฤษภาคม กันยายน 2560 โดยมีผู้วิจัย ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 3 คน) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรม
ตอนที่ 2 ผลการวิจัย
2.1 สภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยใช้กระบวนการการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ได้ข้อสรุปว่า
การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมด้วยเทคนิคการระดมพลังสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สร้างคุณค่า และชี้นำลูกหลานให้กลับมาสนใจใส่ใจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งถือได้ว่าผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่ลูกหลาน เป็นคลังภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมในชุมชน ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุแบบไม่มีโครงสร้าง สรุปได้ว่า ด้านสุขภาพทางกาย พบว่า ผู้สูงอายุมีความแข็งแรง และรู้วิธีการรักษาสุขภาพ ด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากขึ้น โดยมีการติดต่อ พบปะสังสรรค์ รวมถึงการมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อน ญาติมิตรและคนรอบข้าง ด้านอารมณ์และจิตใจ พบว่า ผู้สูงอายุ มีความสุข มีอารมณ์แจ่มใส มีความคิดความจำที่ดี และและด้านการปฏิบัติทางศาสนา พบว่า ผู้สูงอายุ ได้มีโอกาสพูดคุยหลักธรรมะกับเพื่อนบ้านวัยเดียวกันและต่างวัย และสามารถนำหลักทางศาสนามาใช้ในชีวิตได้ เช่น การทำจิตใจให้คิดดี ทำดี พูดดี การให้อภัย การรักษาศีล และการช่วยเหลือผู้อื่น มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหลาน ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีความหมาย สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม สรุปได้ว่า ผู้สูงอายุมีความคิดเห็นว่าการมีส่วนร่วมในกิจกรรมมีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จำแนกตามรายด้านดังนี้ ด้านสุขภาพทางกาย พบว่า ผู้สูงอายุเห็นว่าสุขภาพทางกายมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยทุกข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ กิจกรรมทำให้ท่านได้มีโอกาสออกกำลังกายมากขึ้น รองลงมาคือ กิจกรรมทำให้ท่านรู้สึกว่า สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างว่องไว และกระฉับกระเฉง และกิจกรรมทำให้ท่านรู้สึกว่า กล้ามเนื้อขา แขน ยังแข็งแรงสามารถยืดหยุ่นได้ ตามลำดับ ด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุเห็นว่าด้านสังคมมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยทุกข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ กิจกรรมทำให้ท่านสามารถสนทนากับบุคคลในวัย เดียวกันได้อย่างมีความสุข รองลงมา กิจกรรมทำให้ท่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันได้เป็นอย่างดี และกิจกรรมนันทนาการทาให้ท่านได้ ช่วยเหลือเพื่อนในกลุ่มในกิจกรรม ที่ท่านถนัด ตามลำดับ ด้านอารมณ์และจิตใจ พบว่า ผู้สูงอายุเห็นว่าด้านอารมณ์และจิตใจมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ กิจกรรมทำให้ท่านรู้สึกดี มีความสุข รองลงมาคือ กิจกรรมทำให้ท่านรู้สึกผ่อนคลาย กิจกรรมทำให้ท่านรู้สึกว่า การใช้ชีวิตของท่านทุกวันมีคุณค่า และความหมาย กิจกรรมทำให้ท่านรู้สึกว่าได้การยอมรับจากผู้อื่น ตามลำดับ และด้านการปฏิบัติทางศาสนา พบว่าพบว่า ผู้สูงอายุเห็นว่าด้านการปฏิบัติทางศาสนามีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยทุกข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ กิจกรรมทำให้ท่านได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาธรรมะหรือปฏิบัติธรรม รองลงมาคือ กิจกรรมทำให้ท่านแก้ปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตได้โดยใช้หลักธรรมของศาสนา และกิจกรรมทำให้ท่านเข้าใจชีวิตมากขึ้น ตามลำดับ
ดังนั้นการดำเนินการในครั้งนี้ มีสภาพความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้วิจัยค้นพบ คือ สังคมหรือกลุ่มคนในชุมชนบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ มีการร่วมมือรวมพลัง โดยการแสวงหาความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชน ดังจะเห็นได้จากการร่วมวางแผนรูปแบบการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน โดยการจัดประชุมกลุ่มเวทีชาวบ้าน ซึ่งมีประชากรในพื้นที่เข้าร่วมจำนวนมากถึง 55 คน เพื่อทบทวนสถานการณ์ชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ผลสรุปร่วมกันหลายประการ และที่ประชาชนมีความเห็นร่วมกันมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุมีจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่จะมีมากถึง จำนวน 115 คน และอนาคตที่อยากเห็นในชุมชน คือ อยากให้ผู้สูงอายุในชุมชนดูแลตนเองได้ในเบื้องต้น ในด้านสุขภาพ ด้านร่างกายและจิตใจ และร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาจนสามารถกำหนดกิจกรรมได้ จำนวน 5 กิจกรรม โดยการดำเนินการในแต่ละกิจกรรมนั้น มีหน่วยงานภาครัฐประชาชนและวัด เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายและเป็นเจ้าภาพหลัก นอกจากนี้ยังพบว่า ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 3 คน) และผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ (อาสาสมัคร กศน. จำนวน 2 คน) รวมทั้งกลุ่มคนในชุมชนบ้านท่า อำเภอราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการวิพากษ์วิจารณ์ การสะท้อนผลการปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากการร่วมกันสะท้อนผล และการหาแนวทางการกำหนดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในชุมชน ที่เกิดจากความต้องการของประชาชนมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปในการวางแผนดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในระยะที่ 2 คือ 1) ด้านการอบรมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 3 คน) และบุคลากรท่านอื่น ๆ ด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเทคนิคการเก็บและบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ผลและสรุปข้อมูลเบื้องต้น พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินงานให้มากขึ้น 2) การแสวงหาภาคีเครือข่าย และการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และ 3) การหาแนวทางการกำหนดกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุโดยเน้นให้พัฒนาตนเองด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ สนับสนุนสื่อเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ กาย ใจ อารมณ์ และสังคม รวมทั้งการดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านและชุมชนให้น่าอยู่ สะอาด โดยเน้นสื่อที่เป็นรูปภาพ ที่สอดคล้องกับเนื้อหาเพื่อให้เรียนรู้ด้วยตนเองต่อไปอย่างต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากผู้สูงอายุในชุมชนบ้านท่า มีบ้านที่ห่างไกลกัน ไม่สะดวกในการเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมบ่อย ๆ และที่สำคัญผู้สูงอายุมีความเข้าใจต่อเนื้อหาในกิจกรรมต่างที่เข้าร่วมดีแล้ว จึงต้องการสื่อเพื่อใช้ในการทบทวนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยตนเองต่อไป
2.2 ปัจจัยหรือเงื่อนไขที่เป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factors - CSFs) ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้เทคนิคการระดมพลังสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยที่เป็นรูปธรรมในการเชื่อมโยงการดำเนินงานทุกขั้นตอนที่ทำให้ผู้สูงอายุบ้านท่า หมู่ 10 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามจุดมุ่งหมาย มีจำนวน 3 ประการ ดังนี้
2.3.1 การส่งเสริมเครือข่ายที่เข้มแข็ง คือ บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ โดยจากการดำเนินงาน พบว่า ครู กศน. มีความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ทั้งในเชิงโครงสร้างทางสังคมและส่วนตัว เป็นที่รักของประชาชนในพื้นที่และผู้นำชุมชน สามารถเข้าถึง เรียนรู้และพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความกระตือรือร้นในการดำเนินการ ประกอบกับ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้วิจัยในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และกิจกรรมการดำเนินงาน ซึ่งนับเป็นพลังสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งของการดำเนินกิจกรรม และประการสำคัญ ผู้อำนวยการและบุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เห็นความสำคัญและความจำเป็นการพัฒนาผู้สูงอายุให้ รวมทั้งการมุ่งพัฒนาชุมชนจากความต้องการของชุมชนเอง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการกระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ทุกกิจกรรม ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนราชการในชุมชนเป็นอย่างดี รวมทั้งกำกับ ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถดำเนินการพัฒนาชุมชนโดยชุมชนได้อย่างหลากหลายตามบริบทของชุมชนอย่างแท้จริง
2.3.2 สร้างความตระหนัก และให้ความสำคัญผู้มีส่วนร่วม โดยการใช้เทคนิคการระดมพลังสร้างสรรค์ หรือเทคนิค (A-I-C) เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีโอกาสใช้ทั้งข้อเท็จจริง เหตุผลผลความรู้สึก ตลอดจนการแสดงออกในลักษณะที่เป็นจริง เมื่อทุกคนได้แสดงออกและได้รับการยอมรับ จะมีความรู้สึกดี อบอุ่น และเกิด พลังร่วม ขึ้นระหว่างผู้มาร่วมประชุมด้วยกัน เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ของแต่ละคนที่มีอยู่ มาช่วยกัน มาช่วยกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) หรืออุดมการณ์ร่วม (Shared Ideal) ของกลุ่มและเมื่อทุกคนได้แสดงความคิดเห็น จะนำวิธีการที่เสนอแนะนำมาจัดหมวดหมู่ แยกแยะ พิจารณารวมกัน จนกระทั่งได้วิธีการที่สำคัญที่กลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จที่กลุ่มต้องการ และการนำวิธีการสำคัญมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติหรือแผนการดำเนินงาน (Action Plan) อย่างละเอียดว่าทำอะไร อย่างไร เป้าหมาย ผู้รับผิดชอบคือใคร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ดังนั้นผู้มีส่วนร่วมจะรู้สึกว่าตนเอง มีความสำคัญในกระบวนการ และจะร่วมมืออย่างเต็มที่ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมเวทีชาวบ้าน การเข้าร่วมกิจกรรม และจากกิจกรรมการสะท้อนผลการดำเนินงาน ซึ่งข้อสรุปที่ได้มา คือ ได้แนวทางการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน และข้อมูลสารสนเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนากิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วยตนเองอย่างแท้จริง
2.3.3 การสร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนร่วม พบว่า ผู้วิจัยได้ดำเนินการในช่วงแรกเพื่อสร้างความเป็นมิตร อย่างจริงใจ กับบุคลากร กศน.อำเภอในพื้นที่ และการพบปะพูดคุยอย่งไม่เป็นทางการกับผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชน จนทุกฝ่ายเข้าใจและเกิดความรู้สึกชื่นชมและไว้วางใจ โดย เฉพาะบุคลากร กศน.อำเภอในพื้นที่ เต็มใจและ สนับสนุน เรื่อง แรงกาย ใจ สถานที่ งบประมาณ กิจกรรม และเวลา นอกจากนี้ยังพบว่า การดำเนินกิจกรรมได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนอย่างหลากหลาย ทั้งการเข้ามาร่วมคิดร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน ร่วมดำเนินการ ร่วมประเมินผลและร่วมสะท้อนผล โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งจากประชาชน จากสถานศึกษา และจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการทำงานหนุนเสริม ซึ่งกันและกัน ในการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เป็นผลสำเร็จบนความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชุมชน ทั้งนี้การมีความร่วมมือ จากสมาชิก และภาคีเครือข่ายในชุมชน ได้ให้ความร่วมมือเป็นทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง (บุคลากร กศน. อำเภอราษีไศล จำนวน 4 คน) เป็นผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ (อาสาสมัคร กศน. จำนวน 2 คน) และเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม/ผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการและคณะบุคลากรศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอราษีไศล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านท่า อาสาสมัคร กศน.บ้านท่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลส้มป่อย และแกนนำชุมชน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจุดเด่นของการมีส่วนร่วมของเครือขายในการดำเนินงานครั้งนี้ได้สนับสนุนกำลังคน หรือเข้าร่วมดำเนินงาน บริหารงาน และประสานงาน และที่สำคัญศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอราษีไศลให้การสนับสนุนเป็นกำลังหลักด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากร ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า หลายๆ ภาคส่วนได้ผนึกกำลังในการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมในชุมชนด้วยความเต็มใจจนเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน
ตอนที่ 3 ข้อเสนอแนะการวิจัยครั้งต่อไป
3.1 การดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วยกระบวนการการวิจัย เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ควรมีการดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน และแตกต่างกันเพื่อให้ได้สารสนเทศเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ที่หลากหลาย อันจะเป็นฐานในการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ให้ครบทุกด้านต่อไป
3.2 การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ควรดำเนินการพัฒนาผู้สูงอายุในมิติอื่น ๆ เพื่อให้ได้สารสนเทศในการพัฒนาผู้สูงอายุในมิติอื่น ๆ ที่หลากหลาย อันจะเป็นฐานในการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาผู้สูงอายุให้ครบทุกมิติต่อไป
3.3 การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุครั้งต่อไปควรเตรียมพร้อม ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง ผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้เกี่ยวกับวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
3.4 การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน ควรส่งเสริมสถาบันครอบครัวเป็นแกนหลักในการร่วมกันพัฒนาผู้สูงอายุในครัวเรือนแต่ละครัวเรือน ด้วยกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เกิดความผูกพัน รักใคร่ภายในครอบครัวนั้น ๆ และส่งผลให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตนเองต่อไป