บทคัดย่อ
ชื่อรายงาน : รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็นร่วมกับ
การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อ-สกุลผู้วิจัย : ปิยนันท์ ยิ่งคำนึง
ปีที่ศึกษา : ปีการศึกษา 2560
รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็นร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ดังนี้ 1) สร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนพระพรหมพิทยานุสรณ์ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้การจัดกิจกรรม การเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็น ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนพระพรหมพิทยานุสรณ์ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนพระพรหมพิทยานุสรณ์ ที่มีต่อการใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็น ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 โรงเรียนพระพรหมพิทยานุสรณ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 23 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์จำนวน 5 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 18 แผน และแบบประเมินความพึงพอใจ จำนวน 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการศึกษา พบว่า 1) แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิคการสอนแบบ STAD สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 80.14/80.43 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนด 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิคการสอนแบบ STAD สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่าเมื่อนักเรียนได้เรียนด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้เรื่องความน่าจะเป็นเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิคการสอนแบบ STAD สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในภาพรวมนักเรียนมีความพอใจอยู่ในระดับ
มากที่สุด