ชื่อเรื่อง การใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์
ผู้เขียน นางบุญหยัน หลายศิริกุล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานที่ทำงาน โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โดยให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมดมีคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่นักเรียนชาย-หญิง ที่มีอายุระหว่าง 3-4 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)และ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบ วัดทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ผู้วิจัย ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้ 1. ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแผนการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ และให้นักเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในแผนการจัดประสบการณ์ 2. ทดลองหลังเรียน โดยใช้แบบทดสอบวัดทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) 3. เก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกผลคะแนนที่ได้จากแบบประเมินผลการทดสอบนักเรียน 4. วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลการดำเนินงาน 5. จัดทำรายงานผลการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ 6. เผยแพร่เอกสารผลงานวิชาการ เรื่อง ผลการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยการใช้ประสาทสัมผัสห้าเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ ไปยังคณะครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาล 1 ในโรงเรียนเดียวกัน และโรงเรียนใกล้เคียง ตลอดจนเผยแพร่สู่เวปไซด์ทางการศึกษา
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ ดังนี้ นำคะแนนที่ได้จากการทดสอบนักเรียนด้วยแบบทดสอบวัดทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) มาวิเคราะห์มาวิเคราะห์หาค่าร้อยละ แล้วนำไปเทียบกับเกณฑ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 80.00 จากนั้นนำเสนอข้อมูลโดยใช้ตารางประกอบการบรรยาย รูปแบบในการศึกษาจะใช้รูปแบบการวัดหลังการทดลองกลุ่มเดียว (One shot case study) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ 1. ค่าเฉลี่ย 2. ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) 3. ค่าร้อยละ (Percentage)
ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า ผลการทดสอบวัดความสามารถทักษะพื้นฐาน ทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต หลังใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการของนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 13.10 คิดเป็นร้อยละ 87.33 จากการวัดความสามารถทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ จำนวนทั้งหมด 20 คน ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 80 มีจำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 90.00 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งผลการพัฒนาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
โดยสรุป แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ สามารถนำไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้