ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศครูเพื่อเสริมทักษะการอ่านออก
เขียนได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3
ชื่อผู้วิจัย ไชยยา อะการะวัง
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศครูเพื่อเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 2) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนารูปแบบ สร้างรูปแบบโดยการศึกษา หลักการ แนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบ ประเมินรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน และระยะที่ 2 การทดลองใช้รูปแบบ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการทดลองรูปแบบเป็นโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมการวิจัย จำนวน 4 โรงเรียน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน ครูผู้สอน จำนวน 19 คน และนักเรียน จำนวน 46 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนผังแสดงขั้นตอนการนิเทศ 2) ตารางการนิเทศ 3) แผนการนิเทศ 4) แบบประเมินทักษะการอ่านออกเขียนได้เพื่อคัดกรองนักเรียน 5) แบบวินิจฉัยทักษะการอ่านการเขียนของนักเรียน 6) แบบประเมินความก้าวหน้าทักษะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน 7) แบบประเมินทักษะการจัดการเรียนการสอนของครู 8) แบบประเมินความพึงพอใจของผู้บริหารสถานศึกษาและครู 9) แบบประเมินทักษะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนหลังการนิเทศ สถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Dependent Samples t-test
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. รูปแบบการนิเทศครูเพื่อเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 มีผลการประเมินความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการขั้นตอนและวิธีการ และ 4) การประเมินผล ในส่วนของกระบวนการนิเทศ ได้แก่ การศึกษาความต้องการจำเป็นในการนิเทศ การออกแบบและกำหนดทางเลือก การลงมือปฏิบัติการนิเทศ การประเมินและรายงานผลการนิเทศ ในส่วนของขั้นตอนการนิเทศ ประกอบด้วย การชี้แจงรูปแบบ การประเมินเพื่อคัดกรองนักเรียน การประเมินทักษะการจัดการเรียนการสอนของครูก่อนการนิเทศ การนิเทศครูเรื่องเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การประเมินเพื่อวินิจฉัยนักเรียน และการประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน ในส่วนของวิธีการนิเทศ ได้แก่ การนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด การนิเทศแบบเป็นพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุน และการนิเทศโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า
2.1 ครูมีทักษะการจัดการเรียนการสอนเพื่อการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา หลังการนิเทศสูงกว่าก่อนการนิเทศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2.2 ผู้บริหารสถานศึกษา และครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
2.3 นักเรียนกลุ่มปกติ (27 คน) มีทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน หลังจากที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนจากครูที่ได้รับการนิเทศ สูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และผ่านเกณฑ์การอ่านออกเขียนได้ จำนวน 21 คน
2.4 นักเรียนกลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ (19 คน) มีทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน หลังจากที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนจากครูที่ได้รับการนิเทศ สูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์การอ่านออกเขียนได้
คำสำคัญ การพัฒนารูปแบบ รูปแบบการนิเทศครู การอ่านออกเขียนได้ ทักษะการอ่านออกเขียนได้