ผู้วิจัย : ประมวล ขอไชย
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนเทศบาล 1 “สุรินทร์วิทยาคม” สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก
ด้วยการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก โดยให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนการทดสอบตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชาย-หญิง ที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล 1“สุรินทร์วิทยาคม” อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 30 คน ระยะเวลาที่วิจัย คือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 แบ่งเป็น 3 หน่วยการเรียนรู้ ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2561 วันละ 60 นาที ประกอบด้วยกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ 10 นาที กิจกรรมเสริมประสบการณ์ 20 นาที กิจกรรมสร้างสรรค์ 30 นาที รวม 15 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) จำนวน 15 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) จำนวน 10 ข้อ ได้ดำเนินการวิจัยโดยใช้แบบแผนการวิจัยรูปแบบ One shot case study สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สรุปผลการวิจัย ดังนี้
1. การพัฒนาความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ด้วยการจัดประสบการณ์แบบบูรณา
การ 3 กิจกรรมหลัก ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) หลังได้รับการจัดกิจกรรม มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 93.33 มีคะแนนทดสอบความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก เฉลี่ยร้อยละ 90.22 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลการพัฒนาความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก โดยใช้แบบทดสอบความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) โดยนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จำแนกเป็นรายด้าน ดังนี้ ด้านความคล่องแคล่ว คิดเป็นร้อยละ 93.33 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.63 ด้านความยืดหยุ่น คิดเป็นร้อยละ 85.94 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.51 ด้านความถูกต้องสามารถควบคุม คิดเป็นร้อยละ 83.33 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.61 ด้านประสานกันระหว่างมือกับนิ้วมือ คิดเป็นร้อยละ 83.58 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.56 ด้านการรับรู้ประสาทสัมผัส คิดเป็นร้อยละ 84.38 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.67