บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 วิชาคอมพิวเตอร์เพื่อชีวิต 6 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านสะปำ มงคลวิทยา
ผู้วิจัย นางสาวสุคนธา เพชรศิริ
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านสะปำ มงคลวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
ปีที่ทาการวิจัย ปีการศึกษา 2560
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 วิชาคอมพิวเตอร์เพื่อชีวิต 6 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านสะปำ มงคลวิทยา โดยหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนหลังเรียน เปรียบเทียบทักษะก่อนเรียนหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อเอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 27 คน ได้มาด้วยการใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม ซึ่งเป็นห้องเรียนที่ผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย เอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 จำนวน 5 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ แบบทดสอบวัดทักษะก่อนเรียนและหลังเรียน จำนวน 5 ข้อ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ระหว่างเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือกในแต่ละเล่ม ๆ ละ 10 ข้อ ตลอดจนกิจกรรมท้ายบทเรียน โดยใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย สถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติทดสอบสมมุติฐานใช้การทดสอบทีแบบไม่อิสระ สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ หาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) หาค่าความยากง่ายด้วยสูตร P การหาค่าอำนาจจำแนกของแบบทดสอบด้วยสูตร r หาค่าความเที่ยงของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยสูตร KR-20 หาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามความพึงพอใจด้วยสูตร - coefficient ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. เอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 ในภาพรวมมีความสอดคล้อง โดยมีค่า IOC เท่ากับ 0.90
2. เอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 มีประสิทธิภาพ 83.30/80.25 ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 75/75
3. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. นักเรียนมีทักษะการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ 2016 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้เอกสารประกอบการเรียนการประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ 2016 ในระดับมากที่สุด