ผู้รายงาน นายพิศณุ โกมล
ปีที่รายงาน 2561
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาพแวดล้อมของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 3) ประเมินกระบวนการดำเนินการของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 ดังนี้ 4.1 ผลที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการตามความคิดเห็นของนักเรียน 4.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมทั้ง 5 กิจกรรมและ 4.3 ความพึงพอใจในครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ที่มีส่วนร่วมในโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 กำหนดขนาดโดยใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan. 1970 : 608) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 169 คนโดยการสุ่มแบบเป็นระดับชั้นอย่างเป็นสัดส่วน (Proportional Stratisfied Random Sampling) แล้วสุ่มอย่างง่ายโดย การจับฉลาก ดังนี้ ครูจำนวน 8 คน นักเรียนจำนวน 78 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 5 คน และผู้ปกครองนักเรียน 78 คน รวมทั้งสิ้น 169 คน เครื่องมือการวิจัยเป็นแบบสอบถามจำนวน 6 ฉบับที่มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale)วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) หาค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
สรุปผล
1. การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า ทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับมาก ยกเว้นองค์ประกอบด้านความพร้อมบุคลากรอยู่ในระดับมากที่สุด
3. การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 ด้านกระบวนการของโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า ทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับมาก ยกเว้นองค์ประกอบด้านการวางแผนอยู่ในระดับมากที่สุด
4. การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดีหลวง ปีการศึกษา 2560 ด้านผลผลิตของโครงการ ดังนี้
4.1 ผลที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมทั้ง 5 กิจกรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายกิจกรรม พบว่า กิจกรรมกิจกรรมอ่านข่าว บทความ สาระน่ารู้มีค่าเฉลี่ยสูงสุดรองลงมาได้แก่ กิจกรรมป้ายนิเทศเสริมความรู้ตามเหตุการณ์และวันสำคัญต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมส่งเสริมทักษะการอ่านและการเขียนมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
4.3 ความพึงพอใจของครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียนมีต่อโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1.1 ด้านสภาพแวดล้อม นำผลการประเมินโครงการไปสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรในโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนให้เห็นความสำคัญของโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการให้มีความสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมรักการอ่านของต้นสังกัด โดยการจัดอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน และประชาสัมพันธ์เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือกับทุกฝ่าย
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการควรส่งเสริมและเพิ่มงบประมาณเพื่อจัดหาหนังสือ สื่อวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีให้เพียงพอและเหมาะสมตามความต้องการของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1.3 ด้านกระบวนการ การดำเนินการควรจัดกิจกรรมที่เร้าความสนใจและเหมาะสมกับวัย จัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง และมีการติดตามประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำผลไปแก้ไขปรับปรุงในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป
1.4 ด้านผลผลิต ควรส่งเสริมให้นักเรียนนำกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำไปสู่การบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินหรือวิจัยในครั้งต่อไป
2.1 ควรประเมินโครงการที่เน้นประสิทธิผลของโครงการด้านผลผลิตและผลกระทบของโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศในการพัฒนาโครงการต่อไป
2.2 ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในสถานศึกษา โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้การอ่านในกระบวนการเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
2.3 ควรใช้รูปแบบประเมินโครงการในรูปแบบอื่น ๆ มาศึกษาเรื่องการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในสถานศึกษา เพื่อเป็นข้อเท็จจริงในการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ