การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง
หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธตัวอย่างและหน้าที่ชาวพุทธ เพื่อศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผล เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียนและศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนสำเร็จรูป ที่สร้างขึ้น
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/14 โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา ปีการศึกษา 2559 จำนวน 34 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ บทเรียนสำเร็จรูป มีค่าความเที่ยงตรง ตั้งแต่ 4.20 ถึง 4.80 แผนการจัด การเรียนรู้ มีค่าความเที่ยงตรง ตั้งแต่ 4.20 ถึง 4.80 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าความยากตั้งแต่ 0.60 ถึง 0.75 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.25 ถึง 0.48 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 และแบบสอบถามความพึงพอใจ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.71 ถึง 0.88 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความยาก ค่าอำนาจจำแนก ค่าความเชื่อมั่น ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบค่าที
(t-test แบบ Dependent Samples)
ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า
1. บทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธตัวอย่าง และหน้าที่ชาวพุทธ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.13/84.28 ผู้เรียนมีคะแนนคิดเป็นร้อยละ 85.13/84.28 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธตัวอย่างและหน้าที่ชาวพุทธ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.6598 ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นหลังเรียนคิดเป็นร้อยละ 65.98
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธตัวอย่างและหน้าที่ชาวพุทธ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธตัวอย่างและหน้าที่ชาวพุทธ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก