บทคัดย่อ
ณรงค์ศักดิ์ ขาวสุริยจันทร์ โรงเรียนศรียาภัย
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11.
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์
เรื่อง เศษส่วน ระหว่างการสอนโดยใช้ทักษะ/กระบวนการแก้ปัญหากับการสอนปกติของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยถึงร้อยละ 70 และจำนวนผู้เรียน
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนผู้เรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70
ขึ้นไป
กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 85 คน โรงเรียนศรียาภัย รูปแบบการวิจัยใช้รูปแบบเชิงทดลอง ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้เป็นกลุ่มทดลอง 1 ห้อง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 จำนวน 41 คน ที่เรียนรู้โดยใช้ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา และเป็นกลุ่มควบคุม 1 ห้อง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/6 จำนวน 44 คน ที่เรียนรู้ตามปกติ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ชนิด ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้มี 2 แบบ คือ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา และแผนการจัดการเรียนรู้ตามปกติ แบบละ 10 แผน ทำการสอนแผนละ 1 ชั่วโมง และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ค่าเฉลี่ย ( x-) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ใช้ t-test (Independent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏผลดังนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของนักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการเรียนโดยใช้ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา สูงกว่าการเรียนแบบปกติ
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
2. นักเรียนที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา และนักเรียนที่ได้รับการเรียนรู้ตามปกติ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01