ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ
พหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA)
ผู้วิจัย นางสุพรพิศ ผลรักษา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการคิดพื้นฐานของเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนราษฎร์พัฒนา ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบ
พหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA) ก่อนเรียนและหลังเรียน 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผล
ของแผนการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA) เพื่อพัฒนาทักษะ
การคิดพื้นฐานของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้
แบบแผนการทดลองกลุ่มเดียว มีการวัดผลก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest Posttest Design) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กชาย - หญิง อายุระหว่าง 5 - 6 ปี
ที่เรียนอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนราษฎร์พัฒนา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 24 คน
ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย
1) กิจกรรมตามรูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดพื้นฐาน
ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 2) แผนการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ 3) แบบประเมินทักษะการคิดพื้นฐาน ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2
การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบความแตกต่างโดยใช้ค่าที ( t - test) แบบ Dependent
ผลการวิจัยพบว่า
1. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนราษฎร์พัฒนา ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA) มีทักษะการคิดพื้นฐาน โดยภาพรวมและจำแนก
รายด้าน ได้แก่ การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม การจำแนกประเภท และการสรุปอ้างอิงหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบพหุปัญญา
เพื่อการเรียนรู้ (ACACA) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.7039 หมายความว่า การจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมตามรูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ (ACACA) ทำให้เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนราษฎร์พัฒนา มีระดับพัฒนาการหรือความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 70.39