การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของหนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามเกณฑ์ 80/80 ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของหนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้น เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านและการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านวังคางฮูง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 จำนวน 24 คน ซึ่งได้จากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถ ในการอ่านและการเขียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ฉบับ ประกอบไปด้วยข้อสอบแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 15 ข้อ 15 คะแนน และข้อสอบแบบอัตนัย จำนวน 3 ข้อ 15 คะแนน รวมทั้งฉบับ จำนวน 18 ข้อ 30 คะแนน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) จำนวน 15 ข้อ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบแบบที (t test แบบ Dependent)
ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า
1. หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.88/82.92 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่ม
สาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเท่ากับ 0.7043 หรือคิดเป็นร้อยละ 70.43
3. ความสามารถในการอ่านและการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปี ที่ 6 หลังเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด