เรื่อง รายงานผลการพัฒนาการใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่าน
จับใจความด้วยการเรียนรู้เชิงรุก ร่วมกับการพัฒนาทักษะชีวิต
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
ผู้รายงาน วิชชุลาภา แดงสีดา
ตำแหน่ง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดไผ่ค่อม (แพร-ประชาอุปถัมภ์)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพ
ชุดกิจกรรมการพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความด้วยการเรียนรู้เชิงรุก ร่วมกับการพัฒนาทักษะชีวิต กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80 / 80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียนวิชาภาษาไทย ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และ 3) เพื่อการศึกษาความพึงพอใจของ นักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียน
วัดไผ่ค่อม (แพร-ประชาอุปถัมภ์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 จำนวน 20 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า คือ ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความด้วยการเรียนรู้เชิงรุก ร่วมกับการพัฒนาทักษะชีวิต กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ผู้รายงานได้พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย
ชุดกิจกรรม จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) ชุดกิจกรรมการอ่านจับใจความจาก
เรื่องสั้น ๆ 2) ชุดกิจกรรมการอ่านจับใจความจากโฆษณา 3) ชุดกิจกรรมการอ่านจับใจความจากข่าว 4) ชุดกิจกรรมการอ่านจับใจความจากสำนวน สุภาษิต
คำพังเพย 5) ชุดกิจกรรมการอ่านจับใจความจากข่าวสารทางราชการ และ
6) ชุดกิจกรรมการอ่านจับใจความจากนิทาน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ เป็นแบบทดสอบปรนัย ชนิดเลือกคำตอบ 4 ตัวเลือก แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยจัดทำเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานใช้
t test (Dependent Sample)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดกิจกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
มีประสิทธิภาพ 83.83/82.17 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยชุดกิจกรรม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย (x̄) เท่ากับ 4.97 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D.) เท่ากับ 0.13
โดยสรุปแล้วชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความ สาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีประสิทธิภาพดีและเหมาะสมอย่างยิ่ง สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการอ่านจับใจความ ตามหลักการใช้ภาษาไทยให้ดีขึ้น มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นและมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย