ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา
ผู้ศึกษา นางนิตยา กลับแก้ว
ปีที่ศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การพัฒนาการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญและส่งผลต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนเพราะมีส่วนกระตุ้นอารมณ์และสติปัญญาของนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ การศึกษาในครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคากรเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ประจำปีการศึกษา 2559 ตามกรอบการศึกษาค้นคว้า 3 ด้าน คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ และสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research) 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 33 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมิน แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และการวิเคราะห์ข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า (Triangulation Technique) และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นความเรียง
ผลการศึกษา ปรากฏดังนี้
1. มีการสำรวจก่อนการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ห้องเรียนไม่สะอาดไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่มีความปลอดภัย นักเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเกี่ยวกับความมีระเบียบวินัย การพูดและความมีสัมมาคารวะ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อดำเนินการพัฒนาโดยใช้กลยุทธ์การร่วมทำเพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และ การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมตามกรอบการศึกษา
2. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ห้องเรียนมีความสะอาด นักเรียนได้ช่วยเหลือกันจัดห้องเรียนของตนให้สะอาด จัดโต๊ะ เก้าอี้ และมุมประสบการณ์ในห้องเรียนเป็นระแบบสะดวกใน การใช้งาน และมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังไม่สามารถปลูกฝังให้มีลักษณะนิสัยที่ถาวรได้เนื่องจากมีเวลาจำกัด
3. สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ นักเรียนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น พูดจาสุภาพ มีสัมมาคารวะ มีระเบียบวินัย ส่งผลต่อการเรียนรู้และการทำกิจกรรมร่วมกัน เคารพในสิทธิของเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นนิสัยที่ถาวรซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
4. สภาพแวดล้อมทางสังคม ครู ได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน มีการให้การเสริมแรงนักเรียนที่ตั้งใจเรียนและประพฤติดี ครูให้การยกย่องชมเชยจากสาธารณชน รวมทั้งการแนะนำตักเตือนนักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หากจำเป็นต้องลงโทษ สั่งให้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากกิจกรรมที่ทำตามปกติขณะที่อยู่ในโรงเรียน เช่น ทำความสะอาดห้องเรียน หรือทำความสะอาดห้องน้ำ เป็นต้น แต่การจัดการเรียนการสอนของครูยังขาดการบูรณาการดังกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ