หัวข้อวิจัย การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้วิจัย นายสุชาติ สายแก้ว
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพ
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน
บ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน 3) เพื่อศึกษา
ความพึงพอใจของนักเรียนต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน โรงเรียนบ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ
การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการวิจัยโดยสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน และได้นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่านพิจารณาความเหมาะสมแล้วจึงนำไปหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 นำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านตาเจา ตำบล
โนนปูน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 11 คน ที่ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ดำเนินการวิจัยระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2560 เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรโรงเรียนบ้านตาเจา พุทธศักราช 2553 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2560)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านตาเจาจำนวน 9 ชุด
2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้าน
ตาเจา เป็นแบบทดสอบแบบเลือกตอบ จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.37 - 0.70 มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.20 - 0.73 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 3) แบบประเมินความพึงพอใจ เป็นแบบประเมินที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งเป็นแบบวัดมาตรการประเมิน 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด จำนวน 15 ข้อ ใช้แบบแผนในการทดลองแบบ One Group Pretest - Posttest Design สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์หาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ E 1 และ E 2 ทดสอบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ t-test แบบ Dependent ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 6 โรงเรียนบ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.39/83.94 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 6 โรงเรียนบ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านตาเจา จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.65)