บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การวิจัยปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาระบบการนิเทศภายในศูนย์การศึกษา
นอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัยอำเภอด่านมะขามเตี้ย
จังหวัดกาญจนบุรี
ผู้ศึกษา นางขวัญตา ดอนศรีจันทร์
หน่วยงาน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านมะขามเตี้ย
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
จังหวัดกาญจนบุรี
ปีที่ศึกษา พ.ศ.2560
การนิเทศภายในสถานศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารและเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาครูและบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่จะส่งผลให้คุณภาพการเรียนการสอนและความเจริญก้าวหน้าของผู้เรียน การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการนิเทศภายในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ตามกระบวนการพัฒนาระบบ 5 ขั้นตอน คือ การศึกษาระบบ (Systems Investigation) การวิเคราะห์ระบบ (Systems Analysis) การออกแบบระบบ (Systems Design) การใช้ระบบ (Systems Implementation) การบำรุงรักษาและการทบทวนระบบ (Systems Maintenance and Review) โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแมคแท็กการ์ท (Kammis and McTaggart) โดยดำเนินการเป็น 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติตามแผน (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมศึกษาและผู้ให้ข้อมูล 5 คน ประกอบด้วย ผู้วิจัย จำนวน 1 คน ผู้ร่วมวิจัยเป็นข้าราชการครู จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน 3 คน และครู กศน.ตำบล 6 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 6 คน ประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จำนวน 1 คน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบบันทึกการประชุม แบบบันทึกประจำวัน และแบบประเมิน การจัดกระทำและตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบแบบสามเส้า (Triangulation Technique) และนำเสนอผลการศึกษาเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัย การพัฒนาระบบการนิเทศภายในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศ กำกับติดตาม ทำให้ได้วิธีการปฏิบัติการนิเทศแต่ละขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ครูผู้นิเทศและครูผู้รับการนิเทศมีความรู้ ความเข้าใจกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษา ครูมีเจตคติที่ดีต่อการนิเทศ แต่ครูผู้นิเทศยังขาดทักษะในการตรวจแผนการสอน การสังเกตการสอน และการให้คำปรึกษา จึงทำให้มีการพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศ กำกับ ติดตาม ครูผู้นิเทศจะดำเนินการนิเทศ กำกับ ติดตามครูผู้สอนทุกสัปดาห์ เน้นนิเทศติดตาม 3 กิจกรรม คือ การตรวจแผนการสอน การสังเกตการสอน และการให้คำปรึกษา ผลการพัฒนา พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษามากขึ้น ครูมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน
ทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ส่งแผนการสอนตามกำหนด มีขวัญกำลังใจดีขึ้น
โดยสรุป การพัฒนาระบบการนิเทศภายในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษา
ตามอัธยาศัยอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของบุคลากรในองค์กรในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงควรแนะนำ ส่งเสริม ให้นำเทคนิคการประชุมแบบมีส่วนร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศ กำกับติดตาม มาใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาอื่นต่อไป