บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียน 2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียน กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนชุมชนวัดจันทาราม ภาคเรียนที่ 1-2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสารแบบประเมิน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์และแบบสอบถาม ความพึงพอใจการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า ไอ3เอดีไอ(I3ADI Model) มีองค์ประกอบของรูปแบบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. หลักการ การจัดการเรียน การสอนภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์โดยเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้อ่านและวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้การจัดการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการอ่าน 2. วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ของนักเรียน โดยผ่านการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น 3. กระบวนการเรียนการสอน ซึ่งมี 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาสาระ การเรียนรู้จากบทอ่าน (Informing) ขั้นที่ 2 การคิดวิเคราะห์เรื่องที่อ่าน (Analysis Thinking) ขั้นที่ 3 การตระหนักในเรื่องที่อ่าน (Awareness) ขั้นที่ 4 การนำเสนอทางเลือกเพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน (Alternative) ขั้นที่ 5 การตัดสินใจเลือกทางเลือก (Decision Making) ขั้นที่ 6 การนำไปประยุกต์ใช้ (Improvement) และ 4. เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ ได้แก่ ระบบสังคม (Social System) การเรียนรู้ตามรูปแบบต้องมีระบบสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนี้ 1) นักเรียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองและการเรียนรู้ของกลุ่ม 2) นักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน กล้าพูด กล้าเสนอความคิด กล้าที่จะซักถาม 3) นักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนอย่างต่อเนื่องกล้าที่จะเสนอความคิด และกล้าที่จะซักถาม 4) นักเรียนต้องมีทักษะและกล้าที่จะตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ ระบบสนับสนุน (Support System) การจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบผู้สอนจะต้องจัดระบบสนับสนุนดังนี้ 1) ผู้สอนเป็นผู้จัดบรรยากาศการเรียนรู้ทั้งด้านกายภาพและจิตภาพในเชิงบวก 2) ผู้สอนจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์การเรียนรู้ให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน 3) ผู้สอนจัดบรรยากาศการเรียนให้อบอุ่น ผ่อนคลาย เป็นกันเอง และมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง 4) ผู้สอนต้องกระตุ้นให้นักเรียนกล้าที่จะตั้งคำถามในการคิดวิเคราะห์ตามลักษณะการคิดตามสีของหมวก 5) ผู้สอนจัดหาสถานการณ์หรือบทอ่านซึ่งมีประเด็นและมุมมองหลากหลายและเหมาะสมกับวัยของนักเรียนเพียงพอกับการศึกษาค้นคว้า อภิปราย และตัดสินใจ หลักการตอบสนอง การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียน ไปใช้ต้องคำนึงถึงการตอบสนองต่อนักเรียนในระหว่างการเรียนรู้ตามรูปแบบดังต่อไปนี้ 1) ผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนรู้ 2) ผู้สอนสนทนาซักถามเพื่อกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใช้คำถาม กระตุ้นการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบ 3) ผู้สอนดูแล และติดตามให้นักเรียนเรียนรู้แบบร่วมมือกันเพื่อให้เกิดภาวการณ์ร่วมคิดทั้งใน กลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่
ผลการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียนไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ ดังนี้
2.1 รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไอ3เอดีไอ (I3ADI Model) มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.09/82.05 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (80/80) ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1 และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน จากการนำไปทดลองใช้กับบทอ่านลักษณะต่างๆ คือ นิทาน ข่าว บทความ เรื่องสั้น และสารคดี พบว่ารูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (80/80) ทุกบทอ่าน แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบของนักเรียนมีประสิทธิภาพด้านกระบวนการและด้านผลลัพธ์สูง
2.2 ทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนก่อนและหลังการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนไอ3เอดีไอ (I3ADI Model) พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2 ทั้งนี้คะแนนเฉลี่ยทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนหลังการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน อยู่ในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าก่อนการทดลองซึ่งอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อพิจารณาจำแนกตามขั้นตอนของทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ พบว่าหลังการทดลอง นักเรียนมีทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ขั้นที่ 1 การอ่านจับใจความสำคัญ เป็นการวิเคราะห์โดยหมวกสีขาว และสีฟ้าสูงที่สุด (ร้อยละ 88.93) รองลงมาคือ ขั้นที่ 2 การคิดวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่อ่าน เป็นการวิเคราะห์โดยใช้หมวกสีเหลืองและหมวกสีดำ (ร้อยละ 85.71) และขั้นที่ 4 การตัดสินใจเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตเป็นการวิเคราะห์โดยใช้หมวก สีเขียว (ร้อยละ 83.721) ส่วนขั้นที่ 3 การตระหนักในเรื่องที่อ่านเป็นการวิเคราะห์โดยใช้หมวก สีแดงต่ำที่สุด (ร้อยละ 82.90)
2.3 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.92, S.D. = 0.07) ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 3