ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและความต้องการในการเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดสมุทรปราการ
Factors that affect attitudes and needs in choosing to study mathematics program of secondary students in Samut Prakarn province
รัฐวิชญ์ เกษรสิทธิ์
นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาคณิตศาสตรศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ความเป็นมาของปัญหา
การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม จะต้องใช้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนา เพื่อให้คงอยู่และดีขึ้นกว่าเดิม การศึกษาสร้างองค์ความรู้ให้กับมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของสังคม ประเทศ และโลก การศึกษาจะเป็นบทเรียนในการสอนสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตไม่ให้เกิดขึ้นกับปัจจุบันและอนาคต เป็นเครื่องมือในการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นเครื่องในการประสานการทำงานของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมให้สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
คณิตศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่มีความสำคัญมากในด้านการศึกษา เพราะคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกสรรพสิ่ง คณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ใช้ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในอนาคตด้วย คณิตศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งการสร้างความมีเหตุมีผลให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ สร้างความรอบคอบในการคิดและการกระทำ สร้างทักษะกระบวนการในการแก้ปัญหา สร้างทักษะการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้สามารถสื่อสาร สื่อความหมาย และนำเสนอได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้กับมนุษย์ จึงถือได้ว่าคณิตศาสตร์นอกจากจะเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งแล้ว ยังเป็นเครื่องมือหรือปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์เพราะในชีวิตประจำวันนั้นมนุษย์ใช้คณิตศาสตร์อยู่ตลอดเวลา
ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ มีความแพร่หลายมากขึ้น นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความชอบและถนัดของตนเอง ทั้งด้านคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ คณิตศาสตร์ศึกษา ซึ่งระดับความยากง่ายและความเข้มข้นในเนื้อหาวิชาจะมีความแตกต่างกันออกไป เพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันที่มีความหลากหลายมากขึ้น ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสายงานนั้น ๆ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะมีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงกับตลาดแรงงาน เช่นคณิตศาสตร์ประกันภัย คณิตศาสตร์การจัดการ การบัญชี วิศวกรรมการเงิน วิศวกรรมการขนส่ง เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณิตศาสตร์เชิงวิทยาการคอมพิวเตอร์ การวิจัยดำเนินงาน สถิติชีวการแพทย์ การจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น ทำให้นักเรียนเลือกเรียนในสาขาที่มีความเฉพาะด้านมากขึ้นเพราะอันเนื่องมาจากสามารถหางานได้ง่ายในปัจจุบันจากการเป็ดเสรีทางการค้าต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทําให้มีกลุ่มธุรกิจต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นความต้องการแรงงานก็มากขึ้นด้วย (ศาสตรา ยะป๊อก, 2550)
สถานการณ์การผลิตบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์ถือได้ว่าเป็นสาขาขาดแคลน อ้างอิงจากแผนกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า การผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศโดยเฉพาะสาขาด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนมาก (พงศ์เทพ เทพกาญจนา, 2556) และเห็นได้จากการสร้างโครงการที่ดึงดูดให้นักเรียนผู้ที่มีความสามารถเลือกเข้าศึกษาต่อในด้านคณิตศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ เช่น โครงการสาขาขาดแคลนครู (SP2) โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้ตอบสนองความต้องการของประเทศ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจเข้าศึกษาด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนอาจขึ้นกับปัจจัยหลาย ๆ ด้านขึ้นอยู่กับยุคและสมัย และกรณีบุคคล ปัจจัยนั้นอาจมาจากปัจจัยส่วนบุคคลของนักเรียน ปัจจัยครอบครอบครัว ปัจจัยสภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อาศัยและโรงเรียน การแข่งขันในตลาดวิชาการศึกษา ค่านิยมปัจจุบัน ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นต้น ปัจจัยต่าง ๆ นั้นเป็นตัวกำหนดทัศนคติและความต้องการ หรือแรงจูงใจในการเลือกเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาต่าง ๆ ของนักเรียน เพื่อการจัดตั้งหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนและสังคมนั้นการสำรวจความคิด ความต้องการ ของนักเรียน รวมทั้งปัจจัยที่มีอิทธิพลให้เกิดความคิด ความต้องการในผลลัพธ์นั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในการวงการศึกษา
การวิจัยในครั้งนี้จึงมีความคาดหวังในผลของการวิจัยในการนำมาใช้ประโยชน์ต่อวงการศึกษา ในการคาดการณ์อนาคตในการผลิตบัณฑิต และทำนายความเป็นไปในอนาคตของจำนวนบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยจะรับเข้าศึกษา การเปลี่ยนแปลงปรับหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียน หรือการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนที่มีความสามารถเข้าศึกษาในด้านคณิตศาสตร์เพื่อประโยชน์ต่อการการวิจัยและพัฒนาของเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติสืบไป และประกอบการตัดสินใจในการวางนโยบายการศึกษาในการส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติและความต้องการในการเลือกสาขาวิชายังเป็นข้อมูลในการวางแผนการเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา สามารถวางแผนการรับจำนวนนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์การวิจัย
เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์
เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติและความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์
เพื่อศึกษาทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์
เพื่อศึกษาความต้องการของนักเรียนในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์
วิธีดำเนินการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัยเป็นนักเรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2557 ของโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 6 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 29 โรงเรียน จำนวน 11,260 คน สุ่มตัวอย่างจากประชากรของโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 6 อำเภอ แบบเจาะจงในแต่ละอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 โรงเรียน และหลังจากนั้นสุ่มนักเรียนแต่ละโรงเรียนแบบอย่างง่ายในการตอบแบบสอบถามการวิจัย หลังจากการสุ่มตัวอย่างจากประชากรจะได้จำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2557 ทั้งหมด 2,099 คนซึ่งได้มาจากการเปิดตารางจำนวนตัวอย่างตามขนาดประชากรของ Yamane ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และระดับความคลาดเคลื่อน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลวิจัยคือแบบสอบถามการวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและความต้องการในการเข้าศึกษาต่อในด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจังหวัดสมุทรปราการ เป็นแบบสอบถามจำนวน 10 ตอน
การวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัย
การวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยประกอบด้วย 1. วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ด้วยความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม 2. วิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ด้วยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Stepwise Multiple Regression Analysis) 3. วิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ 4. วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ 5. วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (The Pearson Product Moment Correlation Coefficient) 6. วิเคราะห์ทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองกลุ่มที่ไม่ขึ้นอยู่แก่กัน (Independent sample test) สำหรับตัวแปรต้นที่มีข้อมูลสองกลุ่ม และเทคนิคการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way anova) และหากพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจะทำการทดสอบหาความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีแบบ LSD และ Dunnett C สำหรับตัวแปรต้นที่มีข้อมูลมากกว่าสองกลุ่ม และ 7. วิเคราะห์ความต้องการของนักเรียนในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ด้วยการทดสอบไคสแควร์ (Chi Square)
ผลการวิจัย
นักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ อันเนื่องมาจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนในสาขาวิชาที่หลากลาย มีสาขาวิชาที่เปิดใหม่และเฉพาะเจาะจงต่อการป้อนตลาดธุรกิจ และจากสถิติการเลือกสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมีปริมาณนักเรียนเลือกสูง อันเนื่องมาจากภาวะของการหางานทำที่เป็นที่ต้องการของตลาด และนักเรียนที่มีความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เลือกเรียนสาขาศึกษาศาสตรบัณฑิต คณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ได้แก่ความมั่นคงและความก้าวหน้า ลักษณะมุ่งอนาคต ความมีเกียรติยศชื่อเสียง และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์มากที่สุดคือความมั่นคงและความก้าวหน้า และน้อยที่สุดคืออาชีพของผู้ปกครอง
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ได้แก่เพศ ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความคาดหวังของผู้ปกครอง ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์มากที่สุดคือความคาดหวังของผู้ปกครอง และน้อยที่สุดคือระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์คือเพศหญิง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียน ความถนัดและความสนใจด้านคณิตศาสตร์ ลักษณะมุ่งอนาคต ความมีเกียรติยศชื่อเสียง ความคาดหวังของผู้ปกครอง ความมั่นคงและความก้าวหน้า และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่าง 2.50-2.99 และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางลบต่อทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ คือเพศชาย ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่าง 1.50-1.99 รายได้ของผู้ปกครองมากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ คือเพศชาย และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียน ความถนัดและความสนใจด้านคณิตศาสตร์ ลักษณะมุ่งอนาคต ความมีเกียรติยศชื่อเสียง ความคาดหวังของผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน และทัศนคติในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางลบต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ คือ ผู้ปกครองของนักเรียนมีอาชีพค้าขาย และเพศหญิง
นักเรียนจะมีทัศนคติต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์แตกต่างกันเมื่อจำแนกปัจจัยส่วนบุคคลคือเพศ ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียน ความถนัดและความสนใจด้านคณิตศาสตร์ ลักษณะมุ่งอนาคต ความมีเกียรติยศชื่อเสียง ความคาดหวังของผู้ปกครอง ความมั่นคงและความก้าวหน้า และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ส่วนนักเรียนจะมีทัศนคติต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ไม่แตกต่างกันเมื่อจำแนกปัจจัยส่วนบุคคลคือรายได้ของผู้ปกครอง และอาชีพของผู้ปกครอง และระดับการศึกษาของผู้ปกครอง
ความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์แตกต่างกันเมื่อจำแนกปัจจัยส่วนบุคคลคือเพศ ความถนัดและความสนใจด้านคณิตศาสตร์ ความมีเกียรติยศชื่อเสียง ความคาดหวังของผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน และทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ส่วนความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ไม่แตกต่างกันเมื่อจำแนกปัจจัยส่วนบุคคลคือระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายได้ของผู้ปกครอง อาชีพของผู้ปกครอง ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียน ลักษณะมุ่งอนาคต ความมั่นคงและความก้าวหน้า
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำงานวิจัยไปใช้
ผลการวิจัยอาจขึ้นอยู่กับที่ตั้งของสถานศึกษา ขนาดของสถานศึกษา ระยะเวลา และค่านิยม ณ ปัจจุบันที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
ค่าหรือความถี่คาดหวังของการทดสอบความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์ที่มีค่าน้อยกว่า 5 ที่มีจำนวนเปอร์เซ็นต์สูง ควรหาทางดำเนินการใด ๆ กับข้อมูลเช่นรวมค่าที่เป็นไปได้ให้น้อยลง หรือไปทำการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
ในการตรวจสอบความแตกต่างของทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ในกรณีที่ปัจจัยส่วนบุคคลแตกต่างกันแล้วทัศนคติแตกต่างกันด้วย ควรมีการแสดงผลการวิจัยเพิ่มด้วยว่าปัจจัยกลุ่มต่าง ๆ มีทัศนคติอยู่ในระดับใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มมีทัศนคติมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร
ในการตรวจสอบความแตกต่างของความต้องการของนักเรียนที่มีต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ในกรณีที่ปัจจัยส่วนบุคคลแตกต่างกันแล้วความต้องการแตกต่างกันด้วย ควรมีการแสดงผลการวิจัยเพิ่มด้วยว่าปัจจัยกลุ่มต่าง ๆ มีความต้องการอยู่ในระดับใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มมีความต้องการมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้เชิงนโยบาย
เนื่องจากความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้สำหรับทุกสาขาวิชา เป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศและสังคม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นผู้บริหารจึงควรมีการจัดโครงการ หรือค่ายให้กับนักเรียนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนในสาขาวิชาคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยกระตุ้นให้นักเรียนเห็นคุณค่าของคณิตศาสตร์ ที่เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง และเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในทุก ๆ สาขาวิชา
เนื่องจากความต้องการของนักเรียนส่วนใหญ่ต้องการเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ดังนั้นผู้บริหารจึงควรจัดแนะแนว หรือชี้แนะแนวทางในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพในอนาคต ร่วมทั้งให้ข้อมูล และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร ให้นักเรียนได้เข้าใจในหลักสูตร
เนื่องจากสาขาวิชาทางด้านคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นความรู้สำคัญในการพัฒนาประเทศ และการสร้างนวัตกรรม และงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้บริหารควรกระตุ้นให้นักเรียนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความสนใจในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้ตัดสินใจในการเลือกศึกษาต่อทางด้านคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการกระจายกำลังของบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการในทุก ๆ สายงาน
ในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์นั้นผู้บริหารควรคำนึงถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์
ในการเชิญชวนนักเรียนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความสนใจทางด้านคณิตศาสตร์ให้เลือกเรียนทางด้านคณิตศาสตร์ ผู้บริหารควรคำนึงถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านคณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหาความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อที่น้อยควรแก้จากสาเหตุหรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตัวนักเรียน
ผู้บริหารควรนำความสัมพันธ์ทางบวกต่อทัศนคติและความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์ มาเป็นนโยบายในการสร้างหรือเพิ่มเติมให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เพื่อให้ผลของการส่งเสริมปัจจัยส่งผลให้นักเรียนมีระดับของปัจจัยนั้น ๆ ในระดับสูง ส่งผลทางอ้อมให้นักเรียนมีทัศนคติและความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์มากขึ้นด้วย
ผู้บริหารควรนำความสัมพันธ์ทางลบต่อทัศนคติและความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์ มาเป็นนโยบายในการสร้างหรือเพิ่มเติม และกระตุ้นไม่ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เพื่อให้ผลของการส่งเสริมปัจจัยส่งผลให้นักเรียนมีระดับของปัจจัยนั้น ๆ ในระดับสูง ส่งผลทางอ้อมให้นักเรียนมีทัศนคติและความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์มากขึ้นด้วย
ผู้บริหารสามารถนำผลการวิจัยการศึกษาทัศนคติละความต้องการในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์ที่แตกต่างกันเมื่อจำแนกปัจจัยส่วนบุคคลมาเป็นแนวทางในการแนะแนว หรือชี้แนะนักเรียนให้สามารถเลือกเรียนได้ตรงกับความต้องการ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
สถาบันอุดมสามารถใช้ผลการวิจัยในการวางแผนอัตราการรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตามความต้องการ และจัดสรรจำนวนนักศึกษาให้สมดุลต่อคณาจารย์ ทรัพยากร และสอดคล้องอัตราความต้องการบัณฑิต เพื่อไปรับใช้สังคม และประเทศชาติ