ชื่อวิจัย รายงานผลการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา
เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ
ผู้วิจัย นางนงค์ลักษณ์ คำเหลือ
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการ
แก้ปัญหา เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ 3) เพื่อศึกษา
ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ ที่มีต่อ
การเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง
การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) โดยใช้กลุ่มทดลองกลุ่มเดียว มีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest Posttest Design) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 จำนวน 23 คน
ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 12 เล่ม 2) คู่มือการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 เล่ม
3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระ
การเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 ข้อ โดยใช้ข้อสอบแบบปรนัย
ชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 12 ข้อ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณหาประสิทธิภาพ (E1/E2 ) หาค่าเฉลี่ย (X-bar) ร้อยละ (P) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที (t - test) แบบ Dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ 86.05/84.64ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ตามรูปแบบกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณแสนสนุก กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีความพึงพอใจต่อการเรียนอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (X-bar = 4.54, S.D. = 0.66)