ชื่องานวิจัย การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่ายโรงเรียนบ้านเกาะทัง
อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้วิจัย รัตตัญญู ศรีไชย
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำแนกตามสถานภาพในภาคีเครือข่ายและระดับการศึกษา และเพื่อศึกษาสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 70 คน การเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA) ส่วนสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย วิเคราะห์หาค่าความถี่โดยสรุปสาระสำคัญตามค่าความถี่
ผลการศึกษาพบว่า
1. ภาคีเครือข่ายโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษาโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแต่ละด้านพบว่า ด้านวิชาการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านการบริหารทั่วไป ด้านการบริหารบุคคล ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านงบประมาณ
2. การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเทียบตามสถานภาพในภาคีเครือข่าย โดยรวมไม่แตกต่างกัน
3. การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเทียบตามระดับการศึกษา โดยรวมไม่แตกต่างกัน
4. สภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ พบว่า ภาคีเครือข่าย โรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่เป็นผู้ปกรองนักเรียน มีข้อจำกัดในการจัดการศึกษา ทำให้ไม่สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ของภาคีเครือข่าย ได้อย่างเต็มที่ ต้องการให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูสร้างความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่และการจัดการศึกษามากขึ้น ข้อเสนอแนะของภาคีเครือข่ายต่อการพัฒนาศักยภาพของตน คือ ให้โรงเรียนจัดการประชุมอบรมให้ความรู้ด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ด้านทักษะการพูด การแสดงความคิดเห็นและการจัดหางบประมาณ เพื่อพัฒนาโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น
5. ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายโรงเรียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมาก คือ ฐานะเป็นผู้นำในชุมชนของภาคีเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดกับโรงเรียนและเป็นครูในโรงเรียน มีผู้บริหารโรงเรียนให้คำแนะนำในการเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ภาคีเครือข่ายมีความเสียสละและมีภาระหน้าที่น้อย ทำให้มีเวลามากในการสนับสนุนโรงเรียน ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้ภาคีเครือข่ายปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้น้อย คือ ระดับการศึกษาต่ำ มีความรู้น้อย บางคนมีภาระหน้าที่ต่อครอบครัวมากและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี