บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
เรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการสภานักเรียน โรงเรียนบ้านโป่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านโป่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ผู้รายงาน : นายณรงค์เดช กันทะเนตร
ปีที่พิมพ์ : 2561
.
รายงานผลการประเมินโครงการสภานักเรียน โรงเรียนบ้านโป่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินตามโมเดล ซิป (CIPP Model) เสนอโดย แดเนียล แอล สตัฟเฟลบีม (Daniel L. Stufflebeam) และการประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการสภานักเรียน โรงเรียนบ้านโป่ง 5 ด้าน คือ ด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และผลกระทบ ของโครงการ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนทั้งสิ้น 194 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามประกอบด้วย 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ตอนที่ 2 การประเมินโครงการสภานักเรียน โรงเรียนบ้านโป่ง ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการประเมิน
1. ผลการประเมินโครงการสภานักเรียน โรงเรียนบ้านโป่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้านสรุปผลการประเมินได้ดังนี้
1.1 ผลการประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ มีการศึกษาสภาพปัญหา ของโรงเรียน และมีการศึกษาสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ตามลำดับ
1.2 ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ แผนงานของโครงการมีความชัดเจน และผู้ปกครอง ชุมชนให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ตามลำดับ
1.3 ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ มีการติดตามผลระหว่างการดำเนินโครงการฯ และครู นักเรียน และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ ตามลำดับ
1.4 ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบย่อยของการประเมินผลผลิต พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ในแต่ละองค์ประกอบย่อย ดังนี้ ด้านคารวธรรม คือ นักเรียนเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ด้านสามัคคีธรรม คือ นักเรียนร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมกันทำงาน ด้วยความเต็มใจ ด้านปัญญาธรรม คือ นักเรียนรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ และด้านจิตอาสา คือ นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และสังคม
2. ผลการประเมินผลกระทบของโครงการ (Impact Evaluation) พบว่า โรงเรียนบ้านโป่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 มีผลงาน รางวัล และโครงการ กิจกรรม ต่อยอดจากโครงการสภานักเรียน ดังนี้
2.1 ได้รับรางวัลชนะเลิศอับดับ 1 การแข่งขันสภานักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ปีการศึกษา 2560
2.2 ได้รับรางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันสภานักเรียน ระดับภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2560
2.3 ได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน ระดับภูมิภาค จากผลการคัดสรรผลงาน หนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม ประจำปี 2560 เรื่อง แกนนำพลังใฝ่ดีพิชิตสิ่งเสพติด
2.4 เกิดโครงการ ร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ สานพลังชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) ประจำปี 2560 เป็นเงิน 100,000 บาท
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ควรมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาต่อยอดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
2. ควรมีการให้ความรู้ กำหนดบทบาททีมงาน ผู้ปฏิบัติ ในโรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายที่ชัดเจน ในกระบวนการพัฒนาโครงการ และมุ่งให้ทีมงานยึดเป้าหมายเดียวกัน
3. ควรมีการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสภานักเรียนที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
4. ควรมีการส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม นิเทศ และประเมินผลในการดำเนินกิจกรรมสภานักเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งโรงเรียน ชุมชน และสังคม ตามแนวทางระบบควบคุมคุณภาพวงจรเดมมิ่ง (Demming) และกระบวนการมีส่วนร่วม
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยประเมินในครั้งต่อไป
1. ควรมีการวิจัยประเมินผลด้วยวิธีเชิงคุณภาพ โดยเน้นการดำเนินการวิจัยเชิงลึกด้วยการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม(Focus Group) เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกที่ทำให้ผลการประเมินมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2.ควรมีการวิจัยประเมินผลปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารงานสภานักเรียน เพื่อปรับปรุง พัฒนาปัจจัยดังกล่าวให้มีคุณภาพที่จะส่งผลให้การบริหารงานสภานักเรียนบรรลุเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
3. ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบสภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางการเสริมสร้าง วิถีประชาธิปไตยในโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกันคือ เล็ก กลาง ใหญ่ ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน เพื่อสร้างรูปแบบการเสริมสร้างวิถีประชาธิปไตยในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่เหมาะสมกับโรงเรียนแต่ละขนาด