ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ปีการศึกษา 2560
ผู้รายงาน นางสาวจันทิมา อิ๋วสกุล รองผู้อำนวยการโรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2560
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ปีการศึกษา 2560 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการด้านปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อม ด้านกระบวนการปฏิบัติของโครงการและด้านผลผลิตของโครงการ โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองการประเมินซีโป (CPOs Evaluation Model) ตามกรอบแนวคิดของเยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี มาเป็นรูปแบบการประเมินโครงการ โดยมีวิธีการประเมิน คือ การประเมินโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้ประเมินได้สร้างขึ้น
ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษา โรงเรียน ท้ายเหมืองวิทยา ปีการศึกษา 2560 ประกอบด้วย นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง จำนวน 1,974 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 333 คน โดยใช้สูตรของ ยามาเน (Yamane) ในการคำนวณ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ วิธีการสุ่ม ใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (stratified random sampling) โดยมีตัวแปรแบบแบ่งชั้น คือ ตำแหน่งและหน้าที่ แล้วแต่ละชั้นใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) โดยตารางเลขสุ่ม (random number tables) จนได้กลุ่มตัวอย่างครบตามต้องการ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และมีข้อคำถามปลายเปิด จำนวน 3 ฉบับ ทุกฉบับผ่านการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ โดยมีค่าความเชื่อมั่นระหว่าง 0.80-0.85 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ปีการศึกษา 2560 เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน ด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนกเป็นรายด้าน โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.66,S.D. = 0.39) ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผลการประเมินทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ วัตถุประสงค์ของโครงการ ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.74, S.D. = 0.40) ได้คะแนนเฉลี่ย 4 ผ่านเกณฑ์การประเมิน รองลงมา คือ ความพร้อมและทรัพยากร ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนนเฉลี่ย 4 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และด้านมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนนเฉลี่ย 4 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ปีการศึกษา 2560 เกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็นของครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครอง จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนักและเกณฑ์ การประเมินโดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.22, S.D. = 0.56) ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 45 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และเมื่อพิจารณา เป็นรายด้าน พบว่า ด้านกิจกรรมของโครงการ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.24, S.D. = 0.48) ได้คะแนนเฉลี่ย 40 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และด้านช่วงเวลาที่ดำเนินการ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.19, S.D. = 0.65) ได้คะแนนเฉลี่ย 5 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ปีการศึกษา 2560 เกี่ยวกับผลผลิต ของโครงการ ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัดค่าน้ำหนักและเกณฑ์การประเมิน โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.17, S.D. = 0.53) ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 35 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.22, S.D. = 0.17) ได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และด้านความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.19, S.D. = 0.50) ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
สรุปผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ปีการศึกษา 2560 ทั้ง 3 ด้าน 18 ตัวชี้วัด คะแนนเต็ม 100 เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมินพบว่า สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดทั้ง 18 ตัวชี้วัด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 100 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ด้านปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ ในการจัดทำโครงการโรงเรียนควรชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของโครงการให้ชัดเจน สร้างความร่วมมือ ประสานสัมพันธ์และส่งเสริมให้ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ร่วมกันในการเอาใจใส่ดูแล ส่งเสริม ช่วยเหลือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาด้านการเรียน ปัญหายาเสพติดทั้งในโรงเรียน ที่บ้าน และในชุมชน
2. ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ โรงเรียนควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่เป็นขั้นตอน ถูกต้อง ชัดเจนแก่ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมและกำกับ ติดตาม ให้ครูที่ปรึกษามีการรายงานผลการศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคล ผลการคัดกรองนักเรียน และจัดทำเป็นสารสนเทศเพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน ช่วยเหลือและแก้ไขนักเรียน โรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเป็นการส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน ช่วยเหลือและแก้ไขนักเรียน โรงเรียนควรสร้างเครือข่ายภายนอก เพื่อการประสานติดต่อ ขอความร่วมมือเพื่อการบำบัด ดูแลนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหากรณีมีการส่งต่อหน่วยงานภายนอก ผู้บริหารสถานศึกษาควรสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร ผู้ซึ่งปฏิบัติงานในสถานศึกษาทุกคน เช่น การยกย่อง ชมเชย ประกาศเกียรติคุณ การให้วุฒิบัตร
3. ด้านผลผลิตของโครงการ โรงเรียนควรมีการจัดกิจกรรม การประชุม อบรม สัมมนาเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมถอดประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตลอดจนโรงเรียนควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้แพร่หลาย เพื่อนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
ข้อเสนอแนะแนวทางในการประเมิน/วิจัยครั้งต่อไป
1. ควรประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยประยุกต์ทฤษฎีการประเมินอื่นๆ มาใช้ในการประเมินโครงการ เช่น การประเมินโดยยึดวัตถุประสงค์ เป็นต้น
2. ควรมีการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน อย่างละเอียดในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ
3. ควรศึกษาแนวทางในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับ ความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
4. ควรมีการศึกษาวิจัยถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน