ชื่อเรื่อง : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์
เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย : ทศพร สุระภี
หน่วยงาน : โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่วิจัย : ปีการศึกษา 2558 - 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 3) เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
การดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ขั้นตอนที่ 4 การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 36 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเป็นกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ มี 5 ชนิด ประกอบด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 10 ชุด แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ แบบวัดทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จำนวน 10 สถานการณ์ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่า E1/ E2 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 การทดสอบค่าที (t-test dependent samples) และวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ใช้ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
1.1 สภาพการจัดกิจกรรมการสอนคณิตศาสตร์ของครูชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า การสอนโดยยึดเนื้อหาเป็นสำคัญและพยายามสอนให้จบเนื้อหา ปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ สอนให้นักเรียนจำสูตร หลักการ และวิธีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ส่วนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา อย่างหลากหลายมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย
1.2 ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ที่เป็นปัญหาของครู โดยภาพรวม มีปัญหามาก ได้แก่ ครูขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรม การเรียนการสอน ครูขาดนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และ ครูขาดการพัฒนาเทคนิคการสอนแบบใหม่ๆ ปัญหาที่เกิดจากนักเรียน โดยภาพรวมมีปัญหาในระดับมาก ได้แก่ นักเรียนมีพื้นฐาน ทางคณิตศาสตร์ต่ำมาจากโรงเรียนเดิม นักเรียนขาดความรับผิดชอบขาดระเบียบวินัยไม่กล้าแสดงออก และนักเรียนขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์
1.3 ความต้องการของครูผู้สอนในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยครูต้องการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่ทันสมัย ต้องการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในหัวข้อใหม่ๆ อย่างหลากหลาย โดยเน้นให้สามารถนำไปใช้ได้จริง และต้องการสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทันสมัย เหมาะสมและเพียงพอ โดยมีข้อเสนอแนะให้ครูใช้นวัตกรรมการสอนทั้งสื่อและเทคนิคประกอบการสอน เพื่อให้นักเรียนสนใจ สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ควรจัดให้มีการอบรม เพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้เรื่อง เทคนิคการสอน วิธีการและเทคนิคการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร อบรมวิธีการสอนแบบต่างๆ เช่น การสอนแบบศูนย์การเรียน การสอนซ่อมเสริมนักเรียนที่เรียนอ่อน และสอนเสริมนักเรียนที่เรียนเก่ง และควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวัดผล การสร้างข้อสอบมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อสอบ การจัดทำคลังข้อสอบ วิธีปฏิบัติในการประเมินผล
1.4 ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียน ได้แก่ ครูสอนจริงจัง ไม่ใช้สื่อ ในการสอน ให้ทำแบบฝึกหัดส่งทุกครั้ง ทำให้เครียด ข้อสอบยากเกินไป ครูเข้มงวดทำให้บรรยากาศในการเรียนเครียด ครูไม่ใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้เข้าใจ สอนเร็วและไม่น่าสนใจ เรียนไม่รู้เรื่อง และไม่อยากเรียน นักเรียนได้เสนอความต้องการที่จะเรียนวิชาคณิตศาสตร์อย่างมีความสุข โดยให้ครูจัดหาสื่อการสอนที่หลากหลาย เพื่ออธิบายเนื้อหาวิชาให้เข้าใจ และครูควรสร้างบรรยากาศ ในการเรียนให้สนุกสนาน เช่น ร้องเพลง เล่นเกม และครูควรมีวิธีการสอนที่หลากหลายไม่น่าเบื่อ
1.5 การทดสอบวัดสมรรถภาพทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ด้านความรู้ความเข้าใจ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านความสามารถในการแก้ปัญหา
2. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินประสิทธิภาพด้านกระบวนการ (E1) ได้ค่าประสิทธิภาพ 80.87 และผลการประเมินประสิทธิภาพด้านผลลัพธ์ (E2) ได้ค่าประสิทธิภาพ 82.58 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ 75/75 แสดงว่าชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหา เป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นี้สามารถนำไปใช้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหา เป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า หลังเรียนมีผลสัมฤทธิ์ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สถานการณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด