บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนมัธยมเทศบาลวัดท่าแพ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ของ Stufflebeam ใน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนมัธยมเทศบาลวัดท่าแพ เทศบาลเมือง
ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (สำหรับบุคลากร) มี 2 ตอน มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .98 และฉบับที่ 2 การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนมัธยมเทศบาลวัดท่าแพ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (สำหรับนักเรียน) มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .83
การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ประเมินนำคะแนนที่ได้ไปดำเนินการวิเคราะห์ทางสถิติด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อค่าเฉลี่ย (µ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ ) ของประชากรและค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ของกลุ่มตัวอย่าง นำค่าเฉลี่ยที่ได้จากการวิเคราะห์ไปทำการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ เพื่อใช้ในการแปลความหมายทั้ง รายข้อ รายด้านและโดยรวม และตัดสินผลการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเกณฑ์การตัดสินการประเมิน มีความคิดเห็นด้วยในระดับมาก คือ 3.51 ขึ้นไป ถือว่าผ่านเกณฑ์
ผลการประเมิน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ ด้านกระบวนการ รองลงมาคือ ด้านผลผลิต ด้านบริบท และด้านปัจจัยนำเข้า ตามลำดับ ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนมัธยมเทศบาลวัดท่าแพ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาพรวมและรายด้าน เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า
1. ด้านบริบท โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ วัตถุประสงค์ของโครงการ รองลงมา คือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ และความเป็นไปได้ของโครงการ ตามลำดับ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ในประเด็นวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ประเด็นความต้องการจำเป็นของโครงการ คือ นักเรียนมีพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งที่ไม่ดี และข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ประเด็นความเป็นไปได้ของโครงการ คือ โรงเรียนกำกับและติดตามโครงการได้ แต่ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนมีผลการเรียนต่ำ ครูให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และสอดคล้องกับสภาพปัญหาของชุมชนและท้องถิ่น
2. ด้านปัจจัยนำเข้า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ ความพร้อมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง รองลงมา คือ ความพอเพียงด้านทรัพยากรต่าง ๆ ตามลำดับโดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ในประเด็นความพร้อมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง คือ ครูเพียงพอในการจัดการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ในประเด็นความพอเพียงด้านทรัพยากรต่าง ๆ คือ มีการจัดระเบียบสภาวะแวดล้อมในโรงเรียนให้มีความปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน แต่ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ข้อมูลเอกสารและเครื่องมือในการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีเพียงพอ
3. ด้านกระบวนการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ ช่วงเวลาดำเนินงานตามโครงการ รองลงมา คือ กิจกรรมการดำเนินงานตามโครงการ ตามลำดับ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ในประเด็นกิจกรรมการดำเนินงานตามโครงการ คือ ครูที่ปรึกษาให้เวลากับนักเรียนเพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ และประเด็นช่วงเวลาดำเนินงานตามโครงการ คือ รายงานผลการดำเนินงานโครงการตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียน จากการจัดกิจกรรมโฮมรูม
4. ด้านผลผลิต โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ นักเรียนมีมารยาทที่ดีงาม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการนักเรียน คือ นักเรียนมีสุขภาพกายที่ดี แต่ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ นักเรียนไม่เสพสิ่งเสพติด รวมทั้งไม่แสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งเสพติด และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ตามความคิดเห็นของกรรมการนักเรียน คือ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์การประเมิน ตามหลักสูตรทุกรายวิชา