ชื่อเรื่อง การพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนเนินยาง
ประชาสามัคคี อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้วิจัย นายอรุณ อิ่มสง่า
หน่วยงาน โรงเรียนเนินยางประชาสามัคคี อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) เพื่อวางแผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน 2) เพื่อนำแผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนไปใช้ 3) เพื่อประเมินผลการนำแผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนไปใช้ และ 4) เพื่อสะท้อนผลการใช้แผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน และการนิเทศภายใน มีการดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบ แบบประเมินผล แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
ผู้วิจัยได้สรุปผลการวิจัย เป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. ผลการวางแผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน
ผลการศึกษากลยุทธ์การพัฒนา จากการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการพัฒนา ได้ 3 กลยุทธ์ คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน และการนิเทศภายใน ในวงรอบที่ 1 ใช้กลยุทธ์ 2 กลยุทธ์ คือ การอบรมเชิงปฏิบัติ และการศึกษาดูงาน และในวงรอบที่ 2 ใช้ กลยุทธ์ คือ การนิเทศภายใน
2. ผลการนำแผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนไปใช้
2.1 การอบรมเชิงปฏิบัติการ พบว่า ครูกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการทำวิจัยในชั้นเรียนมากขึ้นผลการทดสอบก่อนการอบรมมีค่าเฉลี่ย 12.72 และผลการทดสอบหลังการอบรม มีค่าเฉลี่ย 23.41 แสดงว่าครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน
เพิ่มขึ้นจากการได้รับการพัฒนาศักยภาพครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยมีความรู้ความเข้าใจ
เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63
2.2 การศึกษาดูงานนอกสถานที่ สรุปได้ว่า จากการเดินทางไปศึกษาดูงานทั้งสามโรงเรียนที่มีบริบทที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนกลุ่มเป้าหมายเกิดความกระตือรือร้นและพึงพอใจ ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำวิจัยในชั้นเรียน มีเจตคติที่ดี มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัยในชั้นเรียน
2.3 ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยใน ชั้นเรียนส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวมของนักเรียนทุกระดับชั้น ในปีการศึกษา 2559 มีค่าร้อยละเฉลี่ย 91.05 สูงกว่าค่าเฉลี่ย ในปีการศึกษา 2558 ที่มีค่าร้อยละเฉลี่ย เท่ากับ 83.66 แสดงให้เห็นว่าร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการตัดสินผลการเรียนในปีการศึกษา 2559 ซึ่งเป็นปีการศึกษาที่ครูได้รับการพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยในชั้นเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าปีการศึกษา 2558 ซึ่งครูยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยในชั้นเรียน
3. การประเมินการนำแผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนไปใช้
โดยใช้การนิเทศ กำกับ ติดตาม การปฏิบัติในการทำวิจัยในชั้นเรียน ของกลุ่มเป้าหมาย พบว่า กลุ่มเป้าหมายทุกคนสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้เป็นผลสำเร็จ ทั้ง 6 ขั้นตอน ซึ่งขั้นที่ครูมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.80 ขั้นตอนการกำหนดคำถาม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.77 ขั้นตอนการตั้งข้อสงสัย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.60 และขั้นตอนการทำความเข้าใจอยู่อันดับต่ำสุดมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20
4. การสะท้อนผลการใช้แผนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน
4.1 ในวงรอบที่ 1 สรุปได้ว่า กลุ่มเป้าหมายทำการวิเคราะห์ปัญหาเป็น รู้จักการเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนได้เหมาะสม มีการศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้ทราบปัญหาและสาเหตุที่ชัดเจน แสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้เรียนได้ การทำงานเป็นระบบมากขึ้น สามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดของการทำงานในแต่ละขั้นตอนได้ เป็นการสร้างนิสัยและทักษะในการทำงานของครูให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
4.2 ในวงรอบที่ 2 สรุปได้ว่า กลุ่มเป้าหมายดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย ได้ประสบการณ์ในการเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนคนละหนึ่งเรื่อง การนิเทศการทำวิจัยในชั้นเรียน 3 ครั้ง รวมทั้งการสังเกต การสัมภาษณ์ การประเมินกลุ่มเป้าหมาย ขณะทำการวิจัยในชั้นเรียน พบว่า กลุ่มเป้าหมาย มีความตั้งใจและเอาใจใส่ต่อการทำวิจัยด้วยดี มีการนำเครื่องมือหรือนวัตกรรมจากงานวิจัย วิทยานิพนธ์จากวารสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องมาเป็นตัวอย่าง หรือมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับงานวิจัยของตนเองมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำเนินการให้การวิจัยในชั้นเรียนสำเร็จสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ