บทคัดย่อ
คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบการสอน/การเขียนเชิงสร้างสรรค์/โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ
บุญสม ท้าวทอง : การพัฒนารูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
การวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในด้านการพัฒนารูปแบบ การสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2)เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อศึกษาผลของการใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อประเมินและเปรียบเทียบรูปแบบการสอนการเขียน เชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด(กวีธรรมสาร) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 64 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนภาษาไทย แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมโดยใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ หลังการทดลองผู้วิจัยกำหนดขั้นตอนในการวิจัยเป็น 4 ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การพัฒนารูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ขั้นที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และขั้นที่ 4 การปรับปรุงรูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ระยะเวลาในการจัดกิจกรรม 20 ชั่วโมง
ผลการวิจัยพบว่า
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน การสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 30 คน การสัมภาษณ์ครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาล เมืองอุตรดิตถ์ จำนวน 5 คน และการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษา สามารถนำไปออกแบบและกำหนดขั้นตอนการใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 20 กิจกรรม
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ได้กำหนดโครงร่างของรูปแบบการสอนได้ จำนวน 20 กิจกรรม แต่ละกิจกรรม มีองค์ประกอบ 6 ประการ คือ สาระสำคัญ จุดมุ่งหมาย เวลาการจัดกิจกรรม เนื้อหา ขั้นตอนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 สร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ขั้นที่ 2 รังสรรค์โยงใยความคิด ขั้นที่ 3 มุ่งมั่นจิตริเริ่มสร้างสรรค์ในงานเขียน ขั้นที่ 4 ศรัทธาแลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิด ขั้นที่ 5 เรียงร้อยการเขียนสร้างนิสัยรักการเขียน การจัดกิจกรรม มีสื่อประกอบกิจกรรมและการวัดและประเมินผลกิจกรรม ผลการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของการจัดกิจกรรมโดยใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าอยู่ในระดับดีมากและผลการศึกษานำร่อง (Pilot Study) รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่พัฒนาขึ้น พบว่ามีความชัดเจน เหมาะสมกับนักเรียนและเหมาะสมกับเวลา
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 64 คนผู้วิจัยทำการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อจัดเป็นกลุ่มทดลอง (Experimental Group) และกลุ่มควบคุม (Control Group) กลุ่มละ 32 คน ทำการทดลอง 20 ครั้ง ใช้แบบแผนการทดลองแบบ Randomized Control Group Pretest - Posttest Design ผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมมีความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และกลุ่มทดลองมีความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์หลังการทดลองสูงกว่า การทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับการใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่ามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงรูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ผลจากทดลองใช้รูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ได้ข้อค้นพบที่จะสามารถนำไปปรับปรุงรูปแบบการสอนการเขียน เชิงสร้างสรรค์ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น คือ การใช้คำถามกระตุ้นของครูในการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและเขียนเชิงสร้างสรรค์จากเรื่องที่เห็นจากแหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ การจัดกลุ่มผู้เรียนที่มีความหลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้และทำงานร่วมกับเพื่อนทุกคนและการให้ข้อมูลย้อนกลับทางบวกเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน