ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงท้ายคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ed โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียง
ชื่อผู้วิจัย นายจินต์ตรัย พรตด้วง วิชา ภาษาอังกฤษ 5 รหัสวิชา อ23101 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จากการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาอังกฤษ 5 ในหน่วยการเรียนรู้ที่ 3 (Travel) ประสบปัญหา นักเรียนออกเสียงคำศัพท์กริยาที่ลงท้ายด้วย ed ไม่ถูกต้อง เนื่องจากภายในบทเรียนมีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงสร้างไวยากรณ์ Present perfect ซึ่งคำศัพท์กริยาส่วนใหญ่เป็นกริยาที่ลงท้ายด้วย -ed และจากการวิเคราะห์ผลการทดสอบก่อนเรียนเพื่อศึกษาสภาพปัญหาเกี่ยวกับทักษะการอ่านออกเสียงท้ายคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ed ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/6 โรงเรียนโยธินบูรณะ ปีการศึกษา 2560 พบว่า นักเรียนมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเสียงคำศัพท์กริยาที่แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต คือ นักเรียนมีผลการทดสอบการอ่านออกเสียงท้ายคำกริยาและคำคุณศัพท์ที่ลงท้ายด้วย ed ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ผู้วิจัยกำหนดร้อยละ 60 ดังนั้น ผู้วิจัยมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาด้านการอ่านออกเสียงดังกล่าว
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงท้ายคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ed โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียง
วิธีดำเนินการวิจัย
ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้น ม. 3/6 จำนวน 1 คน ซึ่งคัดเลือกจากความสมัครใจของผู้เรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย/นวัตกรรม คือ แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียง
การเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การทดสอบ แบบ Pre-test และ Post-test
การวิเคราะห์ข้อมูล/สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ผลต่างของคะแนน Pre-test และ Post-test
ผลการวิจัย
หลังจากผู้วิจัยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียง พบว่า นักเรียนมีผลคะแนนการอ่านออกเสียง Pre-test คือ 2 คะแนน และ Post-test คือ 9 คะแนน จากทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งผู้เรียนมีคะแนนการอ่านออกเสียงเพิ่มขึ้น 7 คะแนน และมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องหลักการออกเสียงท้ายคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ed ซึ่งผู้เรียนสามารถระบุได้ว่าพยัญชนะตัวได้มีเสียงก้อง หรือ ไม่ก้อง
อภิปรายผล
แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงช่วยพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงท้ายคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ed ของ ผู้เรียนได้จริง เนื่องจากแบบฝึกหัดเป็นตัวช่วยที่สำคัญของผู้เรียนในการฝึกฝนทักษะการอ่านออกเสียง และเรียนรู้หลักการอ่านออกเสียงท้ายคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ed ดังนั้น เมื่อผู้เรียนเข้าใจหลักการอ่านออกเสียงดังกล่าวแล้ว จะสามารถอ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้อง
ข้อเสนอแนะ
1. การวิจัยครั้งต่อไปอาจเพิ่มคำศัพท์อื่นๆ นอกเหนือจากบทเรียนในแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียง
2. การวิจัยครั้งต่อไปอาจเพิ่มจำนวนของกลุ่มตัวอย่าง