การวิจัยเรื่องรูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 3) เพื่อเปรียบเทียบความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียน 3.1) เพื่อเปรียบเทียบ ความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียนที่เรียนโดยการใช้รูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาก่อนเรียนและหลังเรียน 3.2) เพื่อเปรียบเทียบความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ระหว่างนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิดกรณีศึกษากับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนด้วยการใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิดกรณีศึกษาของนักเรียน 4) เพื่อประเมินรูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดแบบแผนการวิจัยเป็นการทดลองเพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มทดลอง (Treatment Group) และกลุ่มควบคุม (Control Group) กลุ่มทดลอง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 1 จำนวน 31 คน กลุ่มควบคุม ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 2 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษา จำนวน 5 แผน ทำการสอนเป็นเวลา 10 ชั่วโมง โดยไม่นับเวลาในการทดสอบก่อนเรียนและทดสอบหลังเรียน และแบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน การตรวจสอบเชิงทฤษฎี ความเป็นไปได้ และความสอดคล้องของรูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ความเป็นไปได้ของรูปแบบการสอน มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80 - 1.00 และความสอดคล้องของรูปแบบการสอน มีค่าดัชนีความสอดคล้องมีค่าระหว่าง 0.80 - 1.00 แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการสอนดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการของรูปแบบการสอน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการสอน 3) กระบวนการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วยกระบวนการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการเรียนรู้ ขั้นนำเข้าสู่กรณีศึกษา ขั้นสรรค์หาวิธีการแก้ไข ขั้นแบ่งปันประสบการณ์ และขั้นสืบสานสร้างความรู้ใหม่ และ 4) เงื่อนไขของการนำรูปแบบการสอนไปใช้
3. ผลการเปรียบเทียบความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียน
3.1 ผลการใช้รูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคม
ออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.2 ผลการใช้รูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคม
ออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษา ระหว่างนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษากับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนด้วยการใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิดกรณีศึกษาของนักเรียน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความคิดเห็นของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดกรณีศึกษาพบว่า มีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก