ชื่อเรื่อง การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD
ผู้วิจัย นางสาววิภาวดี คำแดง
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2) ศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กับเกณฑ์ร้อยละ 75 และ 4) ศึกษาศึกษาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวนนักเรียน 34 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม ( cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 3 จำนวน 14 แผน ทำการสอนแผนละ 1 ชั่วโมง และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ที่มีค่าอำนาจจำแนก รายข้อ ตั้งแต่ 0.27 ถึง 0.72 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.89 และแบบวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (rxy) ตั้งแต่ 0.32 ถึง 0.86 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.8407 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดัชนีประสิทธิผลและ t test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 87.07/76.18 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.6859 นั่นคือนักเรียนมีคะแนนร้อยละ 68.59
3. นักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ร้อยละ 75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.74
โดยสรุป แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมาะสม ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 75 และมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับมากที่สุด ดังนั้นจึงควรนำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรต่อไป