ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้ศึกษา : นางนวพร นวลจันทร์
โรงเรียน : โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์
ปีการศึกษา : 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 รูปแบบการวิจัยที่ใช้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ซึ่งแบ่งขั้นตอนการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันความต้องการและข้อมูลพื้นฐานสำหรับการสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มเป้าหมายเป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ จำนวน 12 คน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระยะที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 40 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ระยะที่ 4 การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
 
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1) ทฤษฎี / หลักการ/ แนวคิดของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ของรูปแบบ ประกอบด้วยขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นที่ 2 ขั้นการนำเสนอบทเรียน ขั้นที่ 3 ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ (3.1) การกำหนดปัญหา (3.2) ฝึกคิดเป็นรายบุคคล (3.3) ฝึกคิดเป็นกลุ่มย่อย (3.4) การเสนอผลการคิดในกลุ่มใหญ่ ขั้นที่ 4 ขั้นทบทวนและสรุป และขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล และ 4) การประเมินผลรูปแบบ
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.24/80.33 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 80/80
3. หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 นักเรียนมีคะแนนการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 5 โดยรวมอยู่ในระดับมาก