บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : รายงานการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน
สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้
สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้รายงาน : นายวัฒนะ โอกระโทก
หน่วยงานที่สังกัด : โรงเรียนบ้านทรัพย์เจริญ อำเภอครบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3
ปีที่รายงาน : 2559
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระ การเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยเอกสารประกอบ การเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3) เพื่อศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลของเอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน บ้านทรัพย์เจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 22 คน รูปแบบการศึกษาคือ One Group Pretest Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ เอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและ พลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 10 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบการใช้เอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 แผน ใช้เวลาเรียน จำนวน 12 ชั่วโมง และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนจำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง .38 - .80 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง .25 - .75 และค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ .81 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่า t test แบบ Dependent Samples และค่า E.I.
ผลการศึกษาพบว่า
1. เอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 85.75/81.13
2. นักเรียนที่เรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ค่าดัชนีประสิทธิผลของเอกสารประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้
สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ 0.6756 แสดงว่า นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น 0.6756 หรือคิดเป็นร้อยละ 67.56