ผู้วิจัย นายสวัสดิ์ เจียมใจ
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนาคู่มือแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based Learning : BBL.) เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคู่มือแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based Learning : BBL.) เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการนิเทศภายในให้ครูมีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานให้กับนักเรียนได้ โดยมีขั้นตอนในการพัฒนา 4 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน (Research) โดยการศึกษาแนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคู่มือ และการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ศึกษาความคิดเห็นและความต้องการของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาคู่มือ (Development) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาสร้างคู่มือฉบับร่างและตรวจสอบคู่มือฉบับร่างโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วปรับปรุงแก้ไข ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้คู่มือ (Research) กับกลุ่มตัวอย่าง คือ ครู จำนวน 30 คน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินและปรับปรุงคู่มือ (Development) เป็นการนำผลที่ได้จากการทดลองใช้คู่มือ และผลจากการสำรวจความคิดเห็นของครูที่มีต่อคู่มือในด้านรูปแบบ ด้านเนื้อหา และด้านการนำไปใช้ จากนั้นนำคู่มือมาปรับปรุงเป็นคู่มือฉบับสมบูรณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติค่าที (t-test Dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นำเสนอแบบพรรณนาความ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ข้อมูลพื้นฐาน พบว่า คู่มือควรมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วัตถุประสงค์ของคู่มือ ขอบข่ายเนื้อหาคู่มือ คำแนะนำการใช้คู่มือ ส่วนที่ 2 เนื้อหาในการให้ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ โดยแบ่งออกเป็นตอน และส่วนที่ 3 เป็นส่วนของการประเมินผลการศึกษาคู่มือ เช่น แบบประเมินตนเองก่อนและหลังศึกษาคู่มือ การประเมินตนเองหลังศึกษาความรู้ในแต่ละตอน และคู่มือที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้ 1) ด้านรูปแบบควรมีขนาดรูปเล่มเหมาะสม ตัวอักษรมีขนาดธรรมดา อ่านง่าย มีรูปภาพและแผนภูมิประกอบ มีสีสันสวยงามเพื่อดึงดูดและกระตุ้นความสนใจ สื่อความหมายให้เข้าใจง่าย 2) ด้านเนื้อหา กำหนดวัตถุประสงค์ของคู่มือไว้ชัดเจน ระบุขอบข่ายเนื้อหาของคู่มือครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ มีรายละเอียดตรงกับเรื่องที่ศึกษา เนื้อหาความรู้มีความเหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ของครู ตรงกับความต้องการและความจำเป็นที่จะใช้ คำแนะนำการใช้คู่มือเขียนไว้ชัดเจน เข้าใจง่าย และ 3) ด้านการนำไปใช้ มีการกำหนดขั้นตอนการศึกษาคู่มือไว้ชัดเจน ผู้ใช้มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระที่ต้องการ สามารถนำกิจกรรมไปปฏิบัติจริงได้
2. ผลการพัฒนาคู่มือ คู่มือแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based Learning : BBL.) ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของคู่มือ ขอบข่ายเนื้อหาคู่มือ คำแนะนำการใช้คู่มือ แบบประเมินตนเองก่อนศึกษาคู่มือ แบบประเมินตนเองหลังศึกษาความรู้ในแต่ละตอน สำหรับรายละเอียดเนื้อหาแบ่งเป็น 4 บท คือ บทที่ 1 บทนำ, บทที่ 2 การจัดการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับสมองของเด็ก, บทที่ 3 การสอนแบบโครงการ และ บทที่ 4 จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ผลการหาค่าประสิทธิภาพรายบุคคล E1/E2 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 71.67/80.00 การหาค่าประสิทธิภาพกลุ่มย่อย E1/E2 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 78.33/82.22
3. ผลการทดลองใช้คู่มือ พบว่า ครูมีความต้องการคู่มือการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน ครูบางคนต้องการคำแนะนำการศึกษาคู่มือในบางเนื้อหาเพิ่มเติม ครูส่วนใหญ่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของคู่มือ และได้ศึกษาคู่มือตามคำแนะนำ ปฏิบัติตามขั้นตอนการศึกษาคู่มือ และครูมีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานได้ คู่มือมีประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 91.00/ 94.50 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 80/80
4. ผลการประเมินและปรับปรุงคู่มือ พบว่า ก่อนและหลังศึกษาคู่มือ ครูมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยหลังศึกษาคู่มือครูมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองมากกว่าก่อนการศึกษา ผลการประเมินความสามารถในการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานของครู พบว่า ครูส่วนใหญ่มีการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน จำนวน 4-5 กิจกรรม/เดือน ด้านผลงานนักเรียนมีผลงานนักเรียนที่เกิดจากการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน แสดงถึงพัฒนาการการเรียนรู้และมีชิ้นงานที่เกิดจากการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูที่มีต่อคู่มือแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based Learning : BBL.) พบว่า ด้านรูปแบบ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าตัวอักษรอ่านง่ายชัดเจน รูปภาพประกอบเหมาะสมกับเนื้อหา ขนาดรูปเล่มเหมาะสม และภาษาที่ใช้เหมาะสมกับคู่มือ ด้านเนื้อหาของคู่มือ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า รายละเอียดในคู่มือตรงกับเนื้อหาที่ศึกษา เนื้อหาเหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ของผู้ที่ศึกษา และผู้ศึกษาสามารถนำข้อมูลในคู่มือไปประยุกต์ใช้ได้ ด้านการนำไปใช้ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ครูศึกษาคู่มือแล้วปฏิบัติได้จริง ครูมีความรู้ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน และครูนำความรู้ที่ได้รับจากคู่มือไปจัดประสบการณ์แบบโครงการตามแนวทางการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานให้กับนักเรียนได้