ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ค้นหากระทู้
ตั้งกระทู้คำถามใหม่ กลับหน้าที่แล้ว
 
การพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่

การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

เรื่อง

การพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้

เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4

กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

นางพณิฎาร์ ชำนิกุล

ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ

โรงเรียนสตรีสิริเกศ จังหวัดศรีสะเกษ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

การพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

นางพณิฎาร์ ชำนิกุล

ทำวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2560

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 2 และ (3) ศึกษาเจตคติของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว มีการวัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/8 โรงเรียนสตรีสิริเกศ สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 42 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) เครื่องมือที่ใช้ทดลอง ได้แก่ ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 ชุด และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 12 แผน (2) เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 และแบบวัดเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t – test)

ผลการวิจัยพบว่า (1) ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.46/83.65 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 (2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย และ (3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง อยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.73

2

1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย และพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้ และทักษะพื้นฐาน มีเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บนพื้นฐานความเชื่อว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ได้เต็มตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 4) ในการจัดการศึกษานอกจากการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แล้วยังต้อง ดำเนินการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา ซึ่งมีมาตราต่าง ๆ ได้แก่มาตรา 22 ระบุไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริม ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 23 ระบุไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม และมาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ระบุไว้ว่าให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ เช่น จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา, 2558 : 12-13)

การเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและงานอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้และผลผลิตต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิวิตและการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่น ๆ วิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์ได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผลคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลาย และมีประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ วิทยาศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์และมีคุณธรรม ในด้านการจัดการเรียนรู้นั้น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มุ่งหวังให้ผู้เรียนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้ กับกระบวนการ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ โดยใช้กระบวนการสืบเสาะ หาความรู้ และการแก้ปัญหาที่หลากหลาย ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน มีการทำกิจกรรมด้วยการลงมือปฏิบัติจริงอย่างหลากหลายและเหมาะสม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 92-93) ดังนั้นการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอน ทั้งของครูและนักเรียน โดยครูผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้บอกเล่า บรรยาย สาธิต ไปเป็นการวางแผนการจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมการเรียนรู้ทุกขั้นตอน จนกระทั่งนักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้

3

ในปีการศึกษา 2559 ผู้รายงานปฏิบัติหน้าที่สอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2โรงเรียนกุดชุมวิทยาคม จังหวัดยโสธร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ซึ่งเปิดทำการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยจัดการศึกษาตามหลักสูตร โรงเรียนกุดชุมวิทยาคม พุทธศักราช 2557 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่โรงเรียนคาดหวังไว้ได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระดับโรงเรียน ชุมชน ครอบครัว และบุคคลต้องร่วมรับผิดชอบ โดยร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในการวางแผนดำเนินการ ส่งเสริมสนับสนุน ตรวจสอบ ตลอดจนปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นั้น ผู้รายงานเป็นผู้สอนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และผู้รายงานมีความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องจัดการเรียนรู้ รายวิชาที่รับผิดชอบเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดในหลักสูตร และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนด ดังนั้นผู้รายงานจึงหาแนวทางในการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน และปัญหาของการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาเพื่อหาวิธีการในการแก้ปัญหา และกำหนด แนวทางการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาได้พบปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าร้อยละต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ร้อยละ 70 เพราะจากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาดังกล่าวปลายภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวมมีค่าร้อยละเท่ากับ 68.25 (พณิฎาร์ ชำนิกุล, 2559 : 11-12) ดังนั้นผู้รายงานจึงตั้งเป้าหมายว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีค่าร้อยละ 70 ขึ้นไป ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560

จากปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดดังกล่าวข้างต้น ผู้รายงานจึงศึกษาเอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตลอดจนการใช้สื่อการเรียนหรือนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาเอกสารได้ข้อสรุปเป็นแนวคิดว่าวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ หาความรู้ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 5 ขั้น คือ (1) ขั้นสร้างความสนใจ (2) ขั้นสำรวจและค้นหา (3) ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (4) ขั้นขยายความรู้ และ (5) ขั้นประเมิน กระบวนการสืบเสาะหาความรู้จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาหลักและหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความรู้ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อไป (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี, 2546 : 219-220) นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้มีข้อดี หลายประการ ได้แก่ นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาความคิดอย่างเต็มที่เพราะได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยตนเอง จึงมีความอยากที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกความคิดและฝึกการกระทำ ทำให้เรียนรู้วิธีจัดระบบความคิดและวิธีเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้ความรู้คงทนและถ่ายโยงการเรียนรู้ได้ดี นักเรียนสามารถเรียนรู้มโนมติและหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้เร็วขึ้น และมีเจตคติ ที่ดีต่อการสอนวิทยาศาสตร์ (ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์, 2552 : 332)

4

ในด้านสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า การใช้นวัตกรรมชุดการเรียนรู้หรือชุดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพ เพราะชุดการเรียนรู้เป็นสื่อประสมที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ ของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากชุดการเรียนรู้ประกอบด้วยสื่อที่หลากหลาย สื่อการเรียนชนิดหนึ่งอาจใช้เพื่อเร้าความสนใจ ในขณะที่สื่ออีกชนิดหนึ่งใช้เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงของเนื้อหา และสื่ออีกชนิดหนึ่งใช้เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง การจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จากประสาทสัมผัสที่ผสมผสานกัน ทำให้ผู้เรียนค้นพบวิธีการที่จะเรียน ในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งนักการศึกษา เช่น ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2543 : 117) กล่าวว่า ชุดการเรียนรู้ช่วยให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสูง และเปิดโอกาส ให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ฝึกการตัดสินใจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชุดการเรียนรู้ได้ผลิตขึ้น โดยมีพื้นฐานสำคัญทฤษฎีทางจิตวิทยาซึ่งเป็นการประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ วรวิทย์ นิเทศศิลป์ (2551 : 267) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้เป็นการนำนวัตกรรมมาส่งเสริมการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพการเรียนการสอนพบว่าการพัฒนาสื่อหรือนวัตกรรมที่ผลิตขึ้น อย่างมีระบบจะช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2552 : 441-442) กล่าวว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้มีข้อค้นพบจากการวิจัยซึ่งสรุปได้ว่ามีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเด็กเรียนช้าและทำให้ผู้เรียน มีเจตคติที่ดีต่อวิชาเรียน จากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ประกอบกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ทำให้ผู้รายงานเกิดแนวความคิดว่าถ้าใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ และการใช้ชุดการเรียนรู้มาบูรณาการเข้าด้วยกันเป็น “ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้” อาจทำให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้รายงานจึงศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ และการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เช่น ผลการวิจัยของสุธี ผลดี (2553 : 59-61) เรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง กรด-เบส ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอต่อการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับผลการวิจัยของ พัชรี พุทธิกานนท์ (2554 : 96-99) เรื่องการพัฒนาชุดกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความสนในในการเรียนมากขึ้น และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ เรณู วารีศรี (2554 : 75-76) เรื่องผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง การดำรงชีวิต ของพืช โดยใช้การสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Cycle) ที่มีต่อทักษะการสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจของนักเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนร้อยละ 72 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 70 และนักเรียนมีความ พึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับมาก

5

ภายหลังจากผู้รายงานได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยพร้อมทั้งตรวจสอบคุณภาพ เสร็จเรียบร้อยแล้วในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ต่อมาในปีการศึกษา 2560 ผู้รายงานได้รับคำสั่งจากหน่วยงานต้นสังกัดให้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนสตรีสิริเกศ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 โดยปฏิบัติหน้าที่การสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2จำนวน 4 ห้องเรียน ซึ่งทั้ง 4 ห้องเรียนเป็นห้องเรียนปกติ ไม่เป็นห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ หรือห้องเรียนพิเศษสองภาษา ดังนั้นศักยภาพหรือความรู้ความสามารถทางสติปัญญา จึงน่าจะต่ำกว่าห้องเรียนพิเศษทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เพราะห้องเรียนพิเศษจะคัดเลือกเด็ก ที่มีความสามารถพิเศษเข้าเรียน ดังนั้นเด็กที่มีความสามารถรองลงมาจึงเข้าเรียนในห้องเรียนปกติ และจากสภาพดังกล่าวผู้รายงานมีแนวคิดว่าควรศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนในห้องเรียนปกติดังกล่าว และจากการสำรวจข้อมูลและวิเคราะห์สภาพปัญหาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 มีค่าร้อยละ 68.85 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ร้อยละ 70 (กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสตรีสิริเกศ, 2560 : 17-18) จากนั้นผู้รายงาน ได้วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 จำแนกรายหน่วยการเรียนรู้ 5 หน่วย โดยเรียงลำดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายหน่วยหารเรียนรู้ 5 หน่วย ตามค่าเฉลี่ยร้อยละ ได้แก่ (1) หน่วยเรียนรู้ที่ 2 ธาตุและสารประกอบ ร้อยละ 70.25 (2) หน่วยเรียนรู้ที่ 1 การแยกสาร ร้อยละ 69.45 (3) หน่วยเรียนรู้ที่ 3 สารและการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 68.95 (4) หน่วยเรียนรู้ที่ 4 แสงและการมองเห็น ร้อยละ 68.10 และ (5) หน่วยเรียนรู้ที่ 5 โลกและการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 67.50 จากข้อมูลแสดงว่าหน่วยเรียนรู้ที่ 5 โลกและการเปลี่ยนแปลง มีค่าร้อยละต่ำที่สุด

จากความสำคัญของปัญหาตลอดจนหลักการและเหตุผลดังกล่าว ผู้รายงานมีแนวคิดว่า การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ จะสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น และบรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ได้ ดังนั้นผู้รายงานจึงนำเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในปีการศึกษา 2559 มาใช้ประโยชน์ในการวิจัยที่โรงเรียนสตรีสิริเกศ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โดยทำการวิจัย ในหัวข้อ การพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพื่อนำสารสนเทศที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ต่อไป

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1 เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80

2.2 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

2.3 เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

6

3. สมมติฐานการวิจัย

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

4. ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

4.1 เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ในหน่วยการเรียนรู้ อื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป

4.2 เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ในการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์

4.3 เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนหรือผู้สนใจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนา ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไป

5. วิธีการดำเนินการวิจัย

การดำเนินการวิจัยมีขั้นตอน ดังนี้

5.1 รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ซึ่งเป็นการทดลองในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design)

5.2 ตัวแปรที่ศึกษา ประกอบด้วย

5.2.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

5.2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่

1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4

2) เจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

5.3 ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสตรีสิริเกศ สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 159 คน จาก 4 ห้องเรียน

5.4 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/8 โรงเรียนสตรีสิริเกศ สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 42 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)

5.5 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย

5.5.1 เครื่องมือที่ใช้ทดลอง ได้แก่

1) ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 ชุด

7

2) แผนการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 โลกและการเปลี่ยนแปลง จำนวน 12 แผน

5.5.2 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่

1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลงจำนวน 40 ข้อ เป็นแบบทดสอบปรนัยแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก

2) แบบวัดเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ จำนวน 20 ข้อ เป็นแบบวัดแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ

5.6 การดำเนินการวิจัย

ผู้รายงานดำเนินการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างโดยจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โดยดำเนินการดังนี้

5.6.1 ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง

5.6.2 วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน โดยให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน จำนวน 40 ข้อ

5.6.3 จัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง ครั้งละ 1 ชุด รวมทั้งสิ้น 12 ชุด วัดและประเมินผลการเรียนในชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้แต่ละชุด

5.6.4 เมื่อจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง เสร็จสิ้นจำนวน 12 ชุด แล้ววัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนโดยให้นักเรียน ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน จำนวน 40 ข้อ

5.6.5 วัดเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง โดยให้นักเรียนตอบแบบวัดเจตคติ

5.7 การวิเคราะห์ข้อมูล

5.7.1 วิเคราะห์ประสิทธิภาพของโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สถิติร้อยละ

5.7.2 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ t-test

5.7.3 วิเคราะห์เจตคติต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

6. สรุปผลการวิจัย

6.1 ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.46/83.65 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80

6.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะ หาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย

8

6.3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง อยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.73

7. อภิปรายผลการวิจัย

7.1 การพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 พบว่าชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.46/83.65 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 เนื่องจากผู้รายงานได้สร้างชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง ตามขั้นตอนการผลิต ชุดการสอนแผนจุฬาทุกประการ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา การวางแผนการสอน การผลิต ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ และการทดสอบประสิทธิภาพ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความเที่ยวตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน จากนั้นจึงทำการทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้น (Tryout) โดยทดลองแบบเดี่ยว จำนวน 3 คน ทดลองแบบกลุ่ม จำนวน 10 คน และทดลองแบบสนาม จำนวน 40 คนพร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 จึงได้นำไปทดลองใช้ (Trial Run) กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2543 : 117-119) นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ มีกิจกรรมที่ให้นักเรียนปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขึ้น ซึ่งนักเรียนได้ศึกษาใบความรู้ การปฏิบัติกิจกรรมทั้งรายบุคคลและกลุ่ม การทำแบบฝึกเสริมทักษะ และการทดสอบหลังเรียน และจากกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องดังกล่าวจึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม แบบสืบเสาะหาความรู้สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของนพพร วิชาจารย์ (2552 : 35-55) เรื่องการสร้างชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง กระบวนการในการดำรงชีวิตของพืช สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งพบว่าชุดการสอนมีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.19/88.89 ผลการวิจัยของ นงนุช พระวงศ์ (2554 : 106-107) เรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบนิเวศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กิจกรรมการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งพบว่าชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.18/81.56 และผลการวิจัยของวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียน เรื่อง ธาตุ และสารประกอบ ที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่าชุดการเรียนมีประสิทธิภาพ 82.55/81.71

7.2 การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะ หาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย โดยมีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนเท่ากับ 13.02 และ 33.38 ตามลำดับ เนื่องจากการจัดการเรียนรู้

9

โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม การเรียนรู้ตามขั้นตอนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น คือ (1) ขั้นสร้างความสนใจ (2) ขั้นสำรวจและค้นหา (3) ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (4) ขั้นขยายความรู้ และ (5) ขั้นประเมิน และจากกระบวนการดังกล่าวทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาหลักและหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนการลงมือปฏิบัติ จนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546 : 219-220) นอกจากนี้นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาความคิดอย่างเต็มที่เพราะได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จึงมีความอยากที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกความคิดและฝึกการกระทำ ทำให้เรียนรู้วิธีจัดระบบความคิดและวิธีเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้ความรู้คงทน นักเรียนสามารถเรียนรู้มโนมติและหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้เร็วขึ้น (ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์, 2552 : 332) และสอดคล้องกับ กฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike) ได้แก่ กฎแห่งความพร้อม เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กฎแห่งการฝึกหัด เพราะการฝึกหัดหรือการกระทำบ่อย ๆ ด้วยความเข้าใจทำให้การเรียนรู้นั้นคงทน และกฎแห่งการใช้ เพราะการเรียนรู้เกิดจาก การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ความมั่นคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นหากมีการใช้บ่อย ๆ (ทิศนา แขมมณี, 2553 : 51-52) ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของของสุธี ผลดี (2553 : 59-61) เรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง กรด-เบส ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ซึ่งพบว่านักเรียนกลุ่มเก่ง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มอ่อน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการวิจัยของพัชรี พุทธิกานนท์ (2554 : 96-99) เรื่องการพัฒนาชุดกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของเรณู วารีศรี (2554 : 75-76) เรื่องผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช โดยใช้การสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะ หาความรู้ (Inquiry Cycle) ที่มีต่อทักษะการสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจของนักเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนร้อยละ 72 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 70

7.3 การศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง พบว่านักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง อยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.73 เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้สอดคล้องกับ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความต้องการและความสนใจ ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความสนใจเรียน มีการเสนอสื่อการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ จัดการเรียนรู้ที่มีความหมายหรือน่าสนใจสำหรับผู้เรียน จึงมีผลทำให้นักเรียนพึงพอใจ และเมื่อนักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพของตน ก็จะเกิดความพึงพอใจ และเกิดเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับกฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Law of Effect) ของธอร์นไดค์ (Thorndike) กล่าวคือเมื่อบุคคลได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าได้รับผลที่ไม่พึงพอใจจะไม่อยากเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี, 2553 : 51-52) นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้มโนมติและหลักการ

10

ทางวิทยาศาสตร์ได้เร็วขึ้น และมีเจตคติที่ดีต่อการสอนวิทยาศาสตร์ (ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์, 2552 : 332) ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของของสุธี ผลดี (2553 : 59-61) เรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง กรด-เบส ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ซึ่งพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับผลการวิจัยของพัชรี พุทธิกานนท์ (2554 : 96-99) เรื่องการพัฒนาชุดกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งพบว่านักเรียน มีความสนในในการเรียนมากขึ้น และสอดคล้องกับผลการวิจัยของเรณู วารีศรี (2554 : 75-76) เรื่องผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง การดำรงชีวิต ของพืช โดยใช้การสอน แบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Cycle) ที่มีต่อทักษะการสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจของนักเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนมีความ พึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับมาก

8. ข้อเสนอแนะ

8.1 ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้

8.1.1 การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ ควรเน้นให้ผู้เรียน มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น ทั้งกิจกรรมรายบุคคลและกิจกรรมกลุ่ม จนกระทั่งนักเรียนสามารถเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ครูมีบทบาท เป็นผู้ชี้แนะและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นไปตามขั้นตอนการสืบเสาะ หาความรู้

8.1.2 ควรจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น จัดสื่อการเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ควรเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ จากภายนอก รวมทั้งการแบ่งกลุ่มแบบคละความสามารถเพื่อให้นักเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการเรียนรู้ เป็นต้น

8.2 ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

8.2.1 ควรทำการวิจัยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ กับรายวิชาอื่น ๆ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์มากขึ้น

8.2.2 ควรทำการวิจัยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อศึกษาตัวแปรอื่น ๆ เช่น จิตวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความพึงพอใจ เป็นต้น

11

9. บรรณานุกรม

กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสตรีสิริเกศ. รายงานผลการจัดการเรียนรู้

รายวิชา ว22102 วิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2559.

กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสตรีสิริเกศ, 2560. (เอกสารอัดสำเนา).

ชัยยงค์ พรหมวงศ์. กระบวนการสื่อการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

2543.

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.

กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น, 2552.

ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.

พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.

นงนุช พระวงศ์. ผลการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบนิเวศ

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กิจกรรมการสืบเสาะหาความรู้.

รายงานการศึกษาค้นคว้าอิสระ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต

สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2554.

นพพร วิชาจารย์. การสร้างชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วยการเรียนรู้

เรื่อง กระบวนการในการดำรงชีวิตของพืช สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1.

วิทยานิพนธ์ การศึกษามหาบัณฑิต. ชลบุรี : มหาวิทยาลัยบูรพา, 2552.

พณิฎาร์ ชำนิกุล. รายงานผลการจัดการเรียนรู้ รายวิชา ว22102 วิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2558. โรงเรียนกุดชุมวิทยาคม, 2559.

(เอกสารอัดสำเนา).

พัชรี พุทธิกานนท์. การพัฒนาชุดกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้

เพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, 2554.

เรณู วารีศรี. ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช

โดยใช้การสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Cycle) ที่มีต่อทักษะ

การสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจ

ของนักเรียน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2554.

วรวิทย์ นิเทศศิลป์. สื่อและนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้. ปทุมธานี : สกายบุ๊กส์, 2551.

วิโรจน์ นามโส. การพัฒนาชุดการเรียนเรื่อง ธาตุและสารประกอบ ที่เน้นความสามารถ

ในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4.

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2555.

ศึกษาธิการ, กระทรวง. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.

กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2551.

12

สุธี ผลดี. การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง กรด-เบส ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ

ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2553.

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน กระทรวงศึกษาธิการ.

การจัดสาระการเรียนรู้กลุ่มวิทยาศาสตร์ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน.

กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). พระราชบัญญัติ

การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักงานรับรองมาตรฐาน

และประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน), 2558.

โพสต์โดย ดา : [2 มี.ค. 2561 เวลา 09:01 น.]
อ่าน [5533] ไอพี : 122.154.130.2
หากข้อความนี้ไม่เหมาะสม คลิก คลิกปุ่มนี้ หากเห็นว่าข้อความนี้ไม่เหมาะสม
 
 

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความเห็น
1. ข้อความของท่านจะขึ้นแสดงโดยอัตโนมัติทันทีที่ได้รับข้อมูล
2.
ห้ามโพสต์ ข้อความยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทางสังคม ข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม, เบอร์โทรศัพท์,
รูปภาพที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนหรือภาพลามกอนาจาร หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
ขอให้ผู้ตั้งกระทู้รับผิดชอบตัวเอง
และรับผิดชอบต่อสังคม ถ้ารูปภาพ หรือข้อความใดส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทีมงานพร้อมจะส่งรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่
เพื่อตามจับตัวผู้กระทำผิดต่อไป

3.
สมาชิกที่โพสต์สิ่งเหล่านี้ อาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากผู้เสียหายได้
4. ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. ทุกความคิดเห็นเป็นข้อความที่ทางผู้เยี่ยมชมเข้ามาร่วมตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ ทางเว็บไซต์ kroobannok.com ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
6. ทางทีมงานขอสงวนสิทธิ์ในการลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสมได้ทันที โดยไม่ต้องมีการชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความเห็นนั้นทั้งสิ้น

7. หากพบเห็นรูปภาพ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งมาที่อีเมล์ kornkham@hotmail.com เพื่อทำการลบออกจากระบบต่อไป


 ** พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐**

ขออภัยในความไม่สะดวก เนื่องจากเราประสบปัญหา
มีผู้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่และไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก
ครูบ้านนอกดอทคอมจึงขอความร่วมมือสมาชิก
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความเห็นครับ


  

สมัครสมาชิกใหม่
 

 

Advertisement

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เปิดอ่าน 9,335 ครั้ง
ซีพียูรุ่นใหม่ในยุคคนใช้โน้ตบุ๊คไม่ง้อปลั๊ก
ซีพียูรุ่นใหม่ในยุคคนใช้โน้ตบุ๊คไม่ง้อปลั๊ก

เปิดอ่าน 68,193 ครั้ง
วงจรไฟฟ้า
วงจรไฟฟ้า

เปิดอ่าน 15,433 ครั้ง
วิธีกำจัดกลิ่น กระเทียมติดปาก
วิธีกำจัดกลิ่น กระเทียมติดปาก

เปิดอ่าน 55,489 ครั้ง
เคยสงสัยไหมว่า เขาลักลอบตัด"ไม้พะยูง"ไปทำอะไรกัน??
เคยสงสัยไหมว่า เขาลักลอบตัด"ไม้พะยูง"ไปทำอะไรกัน??

เปิดอ่าน 21,890 ครั้ง
ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในระบบกราฟิก
ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในระบบกราฟิก

เปิดอ่าน 10,216 ครั้ง
มื้อเล็ก ๆ ช่วยลดน้ำหนัก
มื้อเล็ก ๆ ช่วยลดน้ำหนัก

เปิดอ่าน 17,396 ครั้ง
กินไข่ต้ม ช่วยให้หลับง่าย จริงหรือ?
กินไข่ต้ม ช่วยให้หลับง่าย จริงหรือ?

เปิดอ่าน 29,360 ครั้ง
วรรณคดีมรดกของไทยสมัยสุโขทัย
วรรณคดีมรดกของไทยสมัยสุโขทัย

เปิดอ่าน 39,759 ครั้ง
คุณลักษณะของผู้ตัดสินฟุตซอลที่ดี
คุณลักษณะของผู้ตัดสินฟุตซอลที่ดี

เปิดอ่าน 15,305 ครั้ง
อย.เตือนหยุดใช้ลิปสติกดังบางรุ่นชั่วคราว หลังสื่อนอกตีข่าวพบปนเปื้อนสารตะกั่ว
อย.เตือนหยุดใช้ลิปสติกดังบางรุ่นชั่วคราว หลังสื่อนอกตีข่าวพบปนเปื้อนสารตะกั่ว

เปิดอ่าน 33,607 ครั้ง
โครงการเพชรในตม โครงการที่ให้ทุนนักเรียนเรียนครูเมื่อจบแล้วบรรจุเป็นครูโดยตรง
โครงการเพชรในตม โครงการที่ให้ทุนนักเรียนเรียนครูเมื่อจบแล้วบรรจุเป็นครูโดยตรง

เปิดอ่าน 42,555 ครั้ง
6 ขั้นตอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานและความผูกพันในองค์กร เพื่อรักษาคนเก่งขององค์กร
6 ขั้นตอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานและความผูกพันในองค์กร เพื่อรักษาคนเก่งขององค์กร

เปิดอ่าน 13,734 ครั้ง
คืนนี้ชมจันทร์เต็มดวงขนาดใหญ่ และสว่างที่สุดในรอบปี
คืนนี้ชมจันทร์เต็มดวงขนาดใหญ่ และสว่างที่สุดในรอบปี

เปิดอ่าน 883 ครั้ง
ส่อง 5 อาชีพมาแรงในยุคดิจิทัล ที่น่าสนใจ และรายได้ดี
ส่อง 5 อาชีพมาแรงในยุคดิจิทัล ที่น่าสนใจ และรายได้ดี

เปิดอ่าน 16,605 ครั้ง
แอบดูไลน์ เป็นไปได้หรือไม่
แอบดูไลน์ เป็นไปได้หรือไม่

เปิดอ่าน 18,065 ครั้ง
VPN คืออะไร
VPN คืออะไร
เปิดอ่าน 92,168 ครั้ง
จะใช้คำว่าทัศนะและทรรศนะได้เมื่อไหร่
จะใช้คำว่าทัศนะและทรรศนะได้เมื่อไหร่
เปิดอ่าน 23,050 ครั้ง
สเตียรอยด์ (Steroids) คืออะไร ?
สเตียรอยด์ (Steroids) คืออะไร ?
เปิดอ่าน 15,126 ครั้ง
ระบบสุริยะอาจสูญสลาย! เมื่อนักดาราศาสตร์พบปรากฏการณ์ "ดาวมรณะ" กลืนดาวบริวาร
ระบบสุริยะอาจสูญสลาย! เมื่อนักดาราศาสตร์พบปรากฏการณ์ "ดาวมรณะ" กลืนดาวบริวาร
เปิดอ่าน 11,086 ครั้ง
แอปเปิลเปิดตัว iPhone 5S และ iPhone 5C อย่างเป็นทางการ(10ก.ย.56)
แอปเปิลเปิดตัว iPhone 5S และ iPhone 5C อย่างเป็นทางการ(10ก.ย.56)

รายการหลัก

หน้าแรก
ข่าว/บทความ
สมุดเยี่ยม
กระดานสนทนา
เว็บลิงค์
ผู้จัดทำเว็บครูบ้านนอก
ข้อมูลบุคคล
ภาพกิจกรรม
ผู้สนับสนุน

สมาชิก

เข้าสู่ระบบ
คุณครูต้องรู้ไว้
รวมแบบฟอร์มต่างๆ

เว็บน่าสนใจ

เว็บไซต์ สพฐ.
กระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องมือวิทยาศาสตร์
เครื่องมือวัด
เครื่องมืออุตสาหกรรม
เกมส์
แหล่งรวมเกมส์

แหล่งรวมเกมส์
สพป.มุกดาหาร



 เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ คลายเครียด

เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้
      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ