บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) และเพื่อประเมินสภาพการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) หลังจัดกิจกรรมตามแนวทางส่งเสริมการอ่าน โดยดำเนินการวิจัย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 444 คน ปีการศึกษา 2559 ระยะที่ 2 แนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทย ชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ พนักงานครู จำนวน 30 คน ระยะที่ 3 ประเมินสภาพการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) หลังจัดกิจกรรมตามแนวทางส่งเสริมการอ่าน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 444 คน ปีการศึกษา 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) พบว่า
ค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับน้อย
2. แนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) มีดังนี้
2.1 กิจกรรมวางทุกคนอ่านทุกคน สรุปได้ว่า นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการอ่านที่ดีขึ้น นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น มีความกระตือรือร้น สนใจในการอ่านหนังสือ สามารถสรุป เรื่องราวของเรื่องที่อ่านได้ขัดเจนและครบถ้วนสมบูรณ์ นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่าน เพราะต้องการรู้เรื่องราวในหนังสือและได้พัฒนาการอ่านของตนเองอยู่เป็นประจำ โดยการเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดอยู่เป็นประจำ ทำให้ได้รับความรู้ ความเพลิดเพลินและสนุกสนานในการเข้าร่วมกิจกรรม
2.2 กิจกรรมแนะนำหนังสือให้อ่าน สรุปได้ว่า นักเรียนให้ความสนใจในการร่วมกิจกรรมนักเรียนที่เข้าใช้บริการในห้องสมุดเพิ่มขึ้น มีความสนใจหนังสือใหม่และการยืมหนังสือในห้องสมุดมากขึ้นเป็นอย่างดี
2.3 กิจกรรมยอดนักอ่าน สรุปได้ว่า นักเรียนให้ความสนใจในการร่วมกิจกรรมยอดนักอ่านเป็นอย่างดี โดยกิจกรรมดังกล่าวครูประจำชั้นจะเป็นผู้กำหนดให้นักเรียนในชั้นไปอ่านหนังสือจากห้องสมุดตามจุดมุ่งหมายแต่ละคน แล้วตรวจบันทึกการอ่านของนักเรียนและร่วมมือกับครูบรรณารักษ์ห้องสมุดเพื่อตรวจสอบสถิติการยืม คืนหนังสือ กิจกรรมยอดนักอ่านเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวัน ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมยอดนักอ่าน เพราะในการร่วมกิจกรรมจะมีการบันทึกสถิติการร่วมกิจกรรมทุกวัน และมีการบันทึกการอ่านของนักเรียน และสถิติการยืมมีสถิติการยืมมากขึ้นในแต่ละวันมียอดนักอ่านชั้นละ จำนวน 3 คน รับมอบเกียรติบัตร
3. ผลการประเมินสภาพการอ่านหลังการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) พบว่า ค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด